วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552

ห้องเรียนคุณภาพ กับ 4 ก้าวคุณภาพครู

1. กล่าวนำ : ห้องเรียนคุณภาพ

เป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาของประเทศที่ที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งคือด้านคุณภาพการศึกษา แม้ว่าการปฏิรูปมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยการกำหนดนโยบายอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ก็ยังพบว่าคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพผู้จบการศึกษาภาคบังคับ และปัจจุบันยังมีความพยายามมุ่งเน้นจะพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาแก่สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพในระดับปฏิบัติ คือ “ระดับห้องเรียน” โดยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจและทักษะพื้นฐาน เกี่ยวกับ “ห้องเรียนคุณภาพ” ในปีการศึกษา 2552 มี 5 ประการ ดังนี้
1) นำการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียน
2) ออกแบบการจัดการเรียนรู้อิงมาตรฐาน
3) การวิจัยในชั้นเรียน (CAR)
4) การใช้ ICT เพื่อการสอนและสนับสนุนการสอน
5) การสร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline)

แม้ว่าหลักและวิธีคิดจะมีความชัดเจนในเป้าหมาย แต่หากครูผู้สอนที่มีอยู่ทั่วประเทศไม่รู้หลักวิธีการปฏิบัติให้เกิดผลที่สอดรับกัน ก็เป็นการยากที่ห้องเรียนคุณภาพจะเกิดขึ้นได้ อาจเป็นเพียงนโยบายที่สวยหรูที่สุดสำหรับทศวรรษนี้ก็ได้ สิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างห้องเรียนคุณภาพก็คือ ทำอย่างไรให้ครูที่เป็นผู้ปฏิบัติและเป็นผู้จัดการเรียนการสอนได้มีแนวทางที่ถูกต้อง ง่าย เป็นธรรมชาติ มีความสุขกับการทำงาน ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างมีระบบ ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมากต่อความรู้ความสามารถของนักบริหารการศึกษาและนักวิชาการในโลกยุคปัจจุบัน

2. ผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมห้องเรียนคุณภาพ

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ ตามนโยบายของ สพฐ. คือ 1) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ 2) สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้

2.1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นองค์กรหลักในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับจังหวัดหรือท้องถิ่น ในการนำส่งนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดแนวทางในการทำงาน การควบคุมส่งเสริม และการกำกับให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ อย่างมิทิศทาง โดยผ่านผู้บริหารสถานศึกษา ให้ถึงหน่วยปฏิบัติคือ “ห้องเรียน” ทีมี่ครูคอยปฏิบัติหน้าที่อยู่อย่างชัดเจนและทั่วถึง ผู้มีบทบาทสำคัญในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก คือ
2.1.1 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีความหมายรวมถึงรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นระดับบริหารและผู้บังคับบัญชา มีบทบาทในการกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนให้เกิดห้องเรียนคุณภาพในระดับ สพท. ให้การส่งเสริมห้องเรียนคุณภาพดำเนินไปอย่างมีระบบ คือ การกำหนดแผน ปฏิทินการศึกษาประจำปี (Road Map) และเป้าหมายห้องเรียนคุณภาพระดับเขตพื้นที่ไว้อย่างชัดเจน ใช้เป็นเส้นทางเดินหลักให้กับกลุ่มงานและสถานศึกษา และเป็นแนวทางในการกำกับติดตามการบริหารจัดการศึกษาทั้งในระดับเขตพื้นที่ เครือข่ายและสถานศึกษา โดยมีรองผู้อำนวยการสำนักงานรับผิดชอบแต่ละเครือข่ายอย่างครบถ้วนแล้ว ซึ่งเป็นภารกิจของฝ่ายบริหารที่จะต้องไปตรวจเยี่ยมกำกับดูแลดูแลส่งเสริมห้องเรียนคุณภาพของสถานศึกษาได้อย่างทั่วถึง
ดังนั้น การจัดระบบการส่งเสริมและกำกับติดตามการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดห้องเรียนคุณภาพจึงมีความจำเป็นก่อนสิ่งใด เพื่อให้เห็นวิสัยทัศน์ แนวทางและกรอบการทำงานที่เห็นความต่อเนื่องสัมพันธ์กันเป็นระบบ
2.1.2 ส่วนราชการในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คือกลุ่มตามโครงสร้างต่าง ๆ ประกอบด้วยหัวหน้ากลุ่มและคณะเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มงานต่าง ๆ มีบทบาทในการขับเคลื่อนแผนงานและโครงการของกลุ่มลงสู่สถานศึกษา โดยมีกลุ่มนโยบายและแผนเป็นเจ้าภาพในการควบคุมแผนงบประมาณประจำปี การปฏิทินการทำงานและและเป้าหมายให้ทุกกลุ่มเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพ จัดทำศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ หรือ War Room เพื่อการกำกับติดตามสู่เป้าหมายทุกขั้นตอน
ภารงานของกลุ่มต่าง ๆ ที่ลงสู่สถานศึกษาโดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทั่วไป เช่น การสนับสนุนส่งเสริมปัจจัย กิจกรรมของสถานศึกษา กิจกรรมนักเรียน เป็นต้น ไม่อาจลงลึกไปถึงห้องเรียนที่ถือว่าเป็นหน่วยปฏิบัติที่สำคัญของโรงเรียน
2.1.3 คณะศึกษานิเทศก์ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมากในการกำหนดปฏิทินการจัดการศึกษาประจำปีการศึกษาในระดับเขตพื้นที่ เป็นบันทึกช่วยจำหรือวาระ (Agenda) การจัดการศึกษาโดยเฉพาะ สิ่งที่ควรนำมากำหนดเป็นแนวทาง ได้แก่ การกำหนดวันเปิด ปิด ห้วงเวลาสำหรับกิจกรรมการศึกษา กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน สัปดาห์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา การบริหารและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา เผยแพร่ไปออกในห้วงเวลาที่เหมาะสมก่อนเริ่มปีการศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องจะใช้เป็นแนวทางในการวางแผนปฏิบัติงานให้สอดคล้องกัน
ขณะเดียวกันการกำกับ ติดตามนิเทศ แนะนำและส่งเสริมให้เกิดคุณภาพห้องเรียน ของศึกษานิเทศก์จะต้องเป็นไปอย่างมีระบบและสอดคล้องสัมพันธ์กันกับปฏิทินการศึกษาดังกล่าว การประชุมเพื่อทบทวนปรับแนวทางในการทำงานเป็นประจำทุกเดือนจึงมีความจำเป็น เพราะนอกจากจะเป็นการมุ่งเน้นที่ห้องเรียนคุณภาพที่จะให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นสำคัญแล้ว ยังได้วิเคราะห์ศึกษาและแก้ปัญหาที่พบร่วมกัน การปรับทิศทางและเจตคติในการทำงานร่วมกัน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความพร้อมเพียงพอที่จะเป็นผู้นำแก่ครูทางวิขาการ การพัฒนาหลักสูตร การบริหารการเปลี่ยนแปลง การจัดการความรู้ และองค์ความรู้วิชาชีพครูอื่นๆ เป็นกัลยาณมิตรพาทำคู่คิดพาทำ เพื่อการพัฒนาห้องเรียนคุณภาพได้

ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการส่งเสริมและสร้างห้องเรียนคุณภาพระดับเขตพื้นที่
อย่างน้อยมีประเด็นควรดำเนินการ ต่อไปนี้
1) ควรกำหนดปฏิทินการศึกษา ระดับเขต ประจำปีการศึกษา หรือ Educational Area Agenda โดยยึดภารกิจด้านการบริหารจัดการศึกษาตามหลักสูตรเป็นหลัก ซึ่งควรกำหนดวาระต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการตลอดทั้งปีเอาไว้ มีการประกาศใช้ก่อนเริ่มปีการศึกษา
การกำหนดวาระและห้วงเวลาการทำงาน ควรพิจารณา คือ
(1) เป็นภาพรวมกว้าง ๆ ที่สำนักงานเขตพื้นที่ต้องการและใช้เป็นแผนที่เดินทาง เป็นหลักประกันที่เน้นไปที่เด็กเป็นสำคัญ เช่น จำนวนวัน หรือสัปดาห์ในการจัดการเรียนการสอน กิจกรรมการศึกษาและพัฒนาผู้เรียน ที่สถานศึกษาสามารถกำหนดรายละเอียดเฉพาะได้ด้วยตนเองอย่างหลากหลาย
(2) เป็นเครื่องชี้ทิศทางและจังหวะของการทำงานขององค์กร เพื่อให้กลุ่มงานและสถานศึกษาในสังกัดนำไปเป็นแนวทางในการวางแผนปฏิบัติให้สัมพันธ์สอดคล้องได้ต่อไป ป้องกันการจัดกิจกรรมที่เหลื่อมล้ำซ้ำซ้อน
2) แผนงานและโครงการของสำนักงานเขตพื้นที่ ต้องมุ่งเน้นให้ลงถึงสถานศึกษาสนองกลยุทธ์และสู่คุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ แสดงให้เห็นประสิทธิภาพโครงการที่เป็นแบบอย่างแก่สถานศึกษา มีการวิเคราะห์โครงการและสรุปผลการศึกษาเป็นองค์ความรู้เชิงวิจัยและสามารถต่อยอดองค์ความรู้ได้ต่อเนื่องทุกปีการศึกษา
3) การพัฒนาระบบ และเครื่องมือการตรวจติดตาม การกำกับ การนิเทศสถานศึกษาของ สพท. ของบุคลากรทั้ง 3 กลุ่มที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ เนื่องจากการตรวจติดตามการบริหารจัดการศึกษายังขาดทิศทางที่ชัดเจน และมีการติดตามสรุปผลความก้าวหน้าเป็นระยะรายเดือน และรายภาคเรียน / ปีการศึกษา
4) มีการพัฒนาศักยภาพ ทักษะและประสบการณ์ให้กับบุคลากรทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม การประชุมปฏิบัติการด้วยกระบวนการจัดการความรู้ การพัฒนาทักษะวิชาการ ภาวะผู้นำ การบริหารจัดการ เพื่อเติมเต็มและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่จำเป็นจะต้องนำไปใช้เมื่อต้องออกตรวจ ติดตาม กำกับและการนิเทศการบริหารจัดการศึกษา

2.2 สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

สถานศึกษา เป็นหน่วยปฏิบัติสำคัญที่สุดในการพัฒนาส่งเสริมให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ มีสิ่งที่เกี่ยวข้องคือ หลักสูตรสถานศึกษา การบริหารจัดการ และผู้ขับเคลื่อน
ในที่นี้ ขอกล่าวเฉพาะผู้ขับเคลื่อนที่จะให้เกิด “ห้องเรียนคุณภาพ” ประกอบด้วยบุคลากร 2 คน คือ (1) ผู้อำนวยการสถานศึกษา และ (2) ครู

2.2.1 ผู้อำนวยการสถานศึกษา
ผู้อำนวยการสถานสถานศึกษา ในฐานะผู้บริหารจัดการหลักสูตร (Curriculum Manager) เป็นมีภารกิจหลักคือเป็นผู้จัดให้มีหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงมีแขนข้างหนึ่งอุ้มหลักสูตรเป็นคัมภีร์ และอีกข้างอุ้มนักเรียนให้มีพัฒนาการตามคุมภีร์ที่ถือไว้ มีบทบาทสำคัญในการบริหารหลักสูตร 3 ประการ คือ 1) การสร้างหลักสูตร 2) การใช้หลักสูตร และ 3) การประเมินหลักสูตร ดังนี้

1) การสร้างหลักสูตรสถานศึกษา
ผู้บริหาร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในสร้างหลักสูตรสถานศึกษา ต้องการศึกษาวิเคราะห์สภาพข้อมูล การมีส่วนร่วม การกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน การกำหนดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา การออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้กลุ่มสาระ การวัดและประเมินผลหลักสูตร ตลอดจนการอนุมัติใช้หลักสูตรและประชาสัมพันธ์หลักสูตรสถานศึกษาแก่สาธารณชนผู้มีส่วนได้เสีย

2) การใช้หลักสูตรสถานศึกษา
เป็นการนำหลักสูตรสถานศึกษาไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องพิจารณาและตัดสินใจมอบหมายให้ครูได้รับผิดชอบในรายวิชาหรือชั้นเรียนตามหลักสูตรอย่างครบถ้วน เพื่อครูจะได้มีสถานภาพสมบูรณ์ในฐานะเจ้าภาพรับผิดชอบสาระรายวิชาหรือชั้นเรียนที่จะต้องทำการบริหารจัดการต่อไป
ในขั้นนี้ ผู้บริหารโรงเรียนมีบทบาทสำคัญที่สุดของการใช้ภาวะผู้นำ ดังนี้
(1) วางแนวทางการบริหารจัดการ ได้แก่ การกำหนดเงื่อนไข นโยบาย ปฏิทินการทำงาน (School Agenda) กำหนดข้อตกลง (House Rules)
(2) กำหนดโครงการรูปแบบการทำงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร ได้แก่ การวิจัยองค์กร (สถานศึกษา) การวิจัยหลักสูตร โครงงาน กิจกรรมการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรสถานศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
(3) การจัดระบบนิเทศภายใน ด้วยกิจกรรมการเยี่ยม การให้คำปรึกษาหารือ การกำกับ ดูแล สร้างเสริม พัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการรายวิชาของครูสู่การพัฒนาห้องเรียนคุณภาพได้
ห้องเรียนคุณภาพ จึงมีโอกาสเกิดขึ้นกับทุกห้องเรียนอย่างเท่าเทียม สร้างโอกาสคุณภาพแก่เด็กทุกคน

3) ประเมินหลักสูตรสถานศึกษา
การประเมินหลักสูตร เป็นการสรุปรายงานผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษาเมื่อสิ้นปีการศึกษา มีการวิเคราะห์ผลสำเร็จและความล้มเหลวของการใช้หลักสูตรสถานศึกษาในรอบปี ซึ่งควรดำเนินการเมื่อสิ้นปีการศึกษาในสิ้นเดือนมีนาคม แล้วนำข้อเด่นและข้อด้อยมาปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษาใหม่ และขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและประกาศใช้ในปีการศึกษาต่อไปในเดือนพฤษภาคม เป็นการต่อยอดองค์ความรู้จากหลักสูตรเดิมสู่รอบปีการศึกษาใหม่ (Spiral) ต่อไป
ทุกสิ้นปีการศึกษา จึงเป็นระยะเวลาที่มีความสำคัญที่สุด ที่จะได้รับรายงานผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษาประจำปีในรายวิชาหรือชั้นของครู และผู้บริหารก็นำผลงานวิจัยรายวิชามาเป็นผลงานวิจัยหลักสูตรสถานศึกษาประจำปี

(2) ครู
ครู ในฐานะเป็นผู้บริหารจัดการรายวิชา (Course Manager) เมื่อได้รับมอบหมายให้รับสาระวิชาใด ๆ ก็จะบริหารจัดการรายวิชานั้นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผลคือผู้เรียนมีคุณภาพมาตรฐานและผลสัมฤทธิ์ตามหลักสูตร จึงเป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญที่สุดต่อการทำให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ ครูจึงต้องมีจังหวะก้าวเดินที่งดงาม มั่นคงและมีคุณค่า การไม่เดินตามจังหวะหรือเดินผิดก้าวย่อมหมายถึงความผิดพลาดและล้มเหลว การจัดการเรียนการสอนครูเกิดจากการวางแผน การเดินตามแผนที่มีกำหนดระยะเวลาความสำเร็จไว้อย่างชัดเจน ถือว่าเป็นงานวิจัยเชิงทดลองทีมีคุณค่าและเป็นงานวิชาชีพ ทางเดินวิชาชีพควรเดินด้วย 4 ก้าวคุณภาพ มีดังนี้

ก้าวที่ 1
กำหนดหน่วยการเรียนรู้สาระรายวิชา (Course Syllabus)
“บอกการเป็นนักวางแผนชั้นครู”

การกำหนดหน่วยการเรียนรู้ (Syllabus) เป็นงานวางแผน ที่ครูต้องวางแผนด้วยตนเองต่อบริบทที่มีอยู่จริง คือ หลักสูตร นักเรียน วิถีชีวิตท้องถิ่น ตลอดจนทรัพยากรการบริหารอื่น ๆ ซึ่งต้องดำเนินการให้สมบูรณ์ก่อนปีการศึกษาใหม่จะเริ่มขึ้น เพื่อจะได้ใช้เป็นแผนที่เดินทาง (Roadmap) ประจำตัวตลอดปี
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยกลุ่มสาระต่าง ๆ และแต่ละสาระวิชาจะมาสิ้นสุดที่ “คำอธิบายรายวิชา” (Course Description) หมายถึง การพรรณนาขอบข่ายสาระของวิชานั้นตามมาตรฐานกำหนดไว้ คำอธิบายรายวิชา ก็คือ “หลักสูตร” ที่ครูจะนำไปวางแผนบริหารจัดการ (Course Management)
รูปแบบและองค์ประกอบของหน่วยการเรียนรู้ โดยทั่วไปประกอบด้วย ข้อมูลผู้สอน คำอธิบายรายวิชา จุดมุ่งหมาย (วัตถุประสงค์) หัวข้อเรื่องที่จะสอนหรือหน่วยการเรียนรู้ วันเดือนปี จำนวนสัปดาห์หรือชั่วโมงที่ต้องใช้ กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อ หนังสือคู่มือต่าง ๆ การวัดและประเมินผลและอื่นๆ
การกำหนดวันเวลาและเนื้อหา ให้เป็นไปตามปฏิทินวันทำการปกติของทางราชการ ของ สพท.ของโรงเรียน ที่เว้นวันหยุดต่าง ๆ วันสำคัญทางศาสนาและประเพณีท้องถิ่น และเหตุการณ์ที่คาดว่าจะมีความสำคัญเกิดขึ้นเป็นต้น ย่อมสอดคล้องกับธรรมชาติของท้องถิ่นและระดับการศึกษา เวลาตลอดทั้งปีการศึกษา ประมาณ 200-230 วัน หรือ 40 สัปดาห์ ดังนี้
1) ระดับชั้นประถมศึกษา โดยปกติจะพบครูได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงาน 2 แบบ คือ
(1) การสอนประจำชั้น โดยครูได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเป็นชั้นเรียน บทบาทครูจะมีความแตกต่างจากครูที่ต้องรับผิดชอบรายวิชา เพราะต้องรับผิดชอบทั้งชั้นเรียนและสอนทุกกลุ่มสาระ กรณีอย่างนี้ ครูจึงอยู่ในบทบาทเป็น “ผู้บริหารจัดการชั้นเรียน” (Class Manager)
หน่วยการเรียนรู้ที่กำหนดต้องเป็น “แบบบูรณาการ” คือการรวมทุกสาระมาจัดไว้เรียนร่วมกัน ครูจะต้องนำคำอธิบายรายวิชาและมาตรฐานการเรียนรู้จากทุกสาระ มากำหนดเป็นหน่วยแบบบูรณาการหน่วยต่าง ๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะตามบริบทของชั้นเรียนนั้น ๆ
การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ของครูประจำชั้นนี้จึงมีความยุ่งยากซับซ้อน ครูต้องมีความรู้ความเช้าใจและทักษะในการบูรณาหลายสาระการเรียนรู้เข้าด้วยกัน มีการเชื่อมโยงแนวคิด (Mind Map) และกิจกรรมไปยังสาระต่าง ๆ ไว้อย่างครบถ้วน
(2) การสอนประจำวิชา คือการที่ครูได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบประจำรายวิชา เรียกว่าเป็น “ผู้บริหารจัดการรายวิชา” (Course Manager) โดยการนำคำอธิบายรายวิชา (Course Description) มาวิเคราะห์ กำหนดจุดมุ่งหมาย จัดหน่วยการเรียนรู้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานและธรรมชาติรายวิชา ซึ่งเป็นงานวางแผนเช่นเดียวกันแต่ไม่เหมือนกับการวางแผนแบบบูรณาการที่ซับซ้อนกว่า
2) ระดับมัธยมศึกษา มีธรรมชาติที่เป็นรายวิชาอิสระที่มีครูรับผิดชอบ มีคำอธิบายรายวิชาที่ชัดเจน กำหนดวัตถุประสงค์และหน่วยการเรียนรู้เป็นรายภาคเรียน ใช้เวลาประมาณ 20 สัปดาห์ อยู่ในฐานะผู้บริหารจัดการรายวิชา (Course Manager)

การกำหนดหน่วยการเรียนรู้ (Syllabus) จึงเป็นก้าวแรกของครูทุกระดับการศึกษา เป็นด่านแรกที่แสดงศักยภาพความเป็น “นักวางแผน” ของครู ทำให้เห็นแนวคิด เห็นองค์ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะที่มีอยู่ในตัวครูได้อย่างชัดเจน เป็นสิ่งให้ผู้บริหารใช้เป็นพื้นฐานในการเก็บเกี่ยวและพัฒนาส่งเสริมทักษะ บุคลิกภาพและเจตคติที่มีอยู่ในตัวครูก่อนทำการสอนได้อย่างชัดเจน สร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี และหน่วยการเรียนรู้ถือเป็นเสมือนเค้าโครงการวิจัยเชิงทดลอง จึงน่าจะถือเป็นก้าวแรกที่งดงามของครูที่ผู้บริหารโรงเรียนจะใช้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าทำการสอนในชั้นเรียนได้
งานบริหารจัดการ ซึ่งประกอบด้วยการวางแผน การดำเนินการตามแผน และการประเมินผลก็เป็นการนำหลักคิด ทฤษฎี ความรู้ทางวิชาการต่าง ๆ เพื่อการประกอบวิชาชีพครูพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาผู้เรียนให้ได้มาตรฐาน

ก้าวที่ 2
วางแผนการจัดการเรียนรู้ (Lesson Plan)
“บอกความเป็นนักออกแบบชั้นครู”
เป็นขั้นของการเตรียมการสอน ให้เป็นไปตามหน่วยการเรียนรู้ (Syllabus) ที่กำหนด เป็นถอดหน่วยการเรียนรู้แต่ละหน่วย หรือบทเรียน หรือเนื้อหา มาทำการวางแผนการจัดการเรียนรู้รายบทเรียน (Lesson Plan) โดยครูออกแบบการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยการจัดทำบทเรียน กำหนดวัตถุประสงค์ กิจกรรมการเรียนการสอน เอกสารคู่มือ สื่อ แบบวัดประเมินผลการเรียนรู้ เป็นแผนสด โดยออกแบบเพื่อการจัดการเรียนรู้ไว้ล่วงหน้าและเพื่อใช้แต่ละครั้งเท่านั้น โดยต้องออกแบบไว้ในวันนี้เพื่อการสอนในสัปดาห์หน้าเสมอ เป็นการเตรียมความพร้อมของครูตามหลักที่ว่า “จะปลูกพืชต้องเตรียมดิน จะกินต้องเตรียมอาหาร”
รูปแบบของแผนการจัดการเรียนรู้ อย่างน้อยสิ่งที่จะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนคือ สาระการเรียนรู้ตามมาตรฐาน วัตถุประสงค์ และกิจกรรมการเรียนรู้ การจัดทำรายละเอียดมากเท่าใดยิ่งมีประโยชน์ต่อการทำงานของครูมากเท่านั้น การออกแบบการสอนที่ดีต้องตอบคำถามได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้เรียน การใช้วิธีการออกแบบย้อนกลับ (Backward Design) ก็เป็นเทคนิคที่ดีอย่างหนึ่งที่มีบทบาทมากในปัจจุบัน การสอนที่มีประสิทธิภาพย่อมมาจากการเตรียมการที่ดีเสมอ ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาควรส่งเสริมเพื่อลดความเสี่ยงทีอาจเกิดขึ้น

ก้าวที่ 3
การจัดกิจกรรมการเรียนเรียนรู้
“บอกความเป็นนักบริหารจัดการชั้นครู”

เป็นขั้นของการจัดการเรียนรู้ของครูตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ครูได้แสดงบทบาทการเป็นนักบริหารจัดการอย่างเต็มที่ คือ การใช้ทักษะผู้นำและความรู้ความสามารถทุกอย่าง ได้แก่ การบริหารชั้นเรียน การบริหารเวลา ทักษะการใช้สื่อ การตัดสินใจ การวัดและประเมินผลของครู เพื่อที่จะทำให้การจัดการเรียนรู้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในขั้นนี้คือ การบันทึกร่องรอยผลการจัดการเรียนรู้ ให้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการทำงาน สิ่งที่ครูควรมีการบันทึก ได้แก่
1) ผลการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น โดยการตอบวัตถุประสงค์ของแผน แต่ละข้อมีผลสำเร็จอย่างไร ด้วยวิธีใด จำนวนเท่าใด และมีค่าสถิติอย่างไร มีข้อสังเกต และข้อพิจารณานำไปปรับปรุงต่อและใช้ในครั้งต่อไปอย่างไร
2) บันทึกบรรยากาศการเรียนรู้จริง เช่น ความสนุกสนาน ความสนใจร่วมมือ เจตคติ พฤติกรรม สื่อ แบบวัดประเมิน เหตุการณ์ที่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ปัจจัยเสริม ข้อขัดข้องข้อสังเกตต่าง ๆ ควรเก็บบันทึกอย่างครบถ้วน
การบันทึกเป็นสิ่งง่าย ๆ ที่ครูจะเกิดทักษะและประสบการณ์ในการบันทึก ให้เป็นหมวดหมู่ เป็นประเด็น เสมือนเป็นสมุดปูมบันทึกเหตุการณ์ประจำวันของชั้นเรียน
ผู้บริหารมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการเข้าไปกำกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในฐานะผู้นิเทศ คือ การให้กำลังใจ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ (ละเว้นการตำหนิ การกล่าวโทษ)การสร้างแรงจูงใจ การเสริมแรง ส่งเสริมและช่วยเหลือให้ครูได้รับความสำเร็จ โรงเรียนควรจัดระบบนิเทศภายใน (Internal Supervisory System) ผู้ทำหน้าที่นิเทศที่มีคุณค่าที่สุดก็คือผู้บริหารสถานศึกษา อาจกำหนดคณะนิเทศภายในสถานศึกษาและแสวงหาความร่วมมือการนิเทศที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน

ก้าวที่ 4
การประเมินการสอนรายวิชา
“บอกความเป็นนักวิจัยชั้นครู”

ขั้นตอนนี้ เป็นขั้นที่บอกความสำเร็จในการทำงานของครูเมื่อสิ้นปีการศึกษา จากการการจัดการเรียนรู้ตามแผนตั้งแต่แผนแรกจนถึงแผนสุดท้ายมาวิเคราะห์ประมวลผล เพื่อตอบหน่วยการเรียนรู้ (Syllabus) ที่ได้กำหนดไว้แล้ว และควรตอบคำถามตามวัตถุประสงค์หน่วยการเรียนรู้อย่างครบถ้วน ว่าแต่ละข้อมีผลสำเร็จอย่างไร เท่าใด มีปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะและการแก้ไขไว้อย่างไร ทุกคำตอบหาได้จากบันทึกผลหลังแผนการจัดการเรียนรู้ที่ได้บันทึกไว้แล้ว
สิ่งที่ควรดำเนินการในขั้นนี้ คือ
1) การสรุปผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนรายวิชาหรือชั้นที่รับผิดชอบ โดยการจัดทำเป็นข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษาของสถานศึกษา
2) การจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานในรูปแบบรายงานการวิจัย 5 บท เพราะผลที่ได้รับจากงานวิจัยมีครบถ้วนแล้ว ขาดเพียงบทที่ 2 เท่านั้น เป็นผลงานสิ่งที่ทุกฝ่ายปรารถนาเพราะเป็นงานการวิจัยสูตรสถานศึกษา มีองค์ความรู้ที่มีคุณค่าของครูทั้งต่อการพัฒนาหลักสูตรและการขอรับวิทยฐานะความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ

สรุป การเดินด้วยจังหวะที่มั่นคง จะสร้างประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นกับครู 4 ด้าน คือ
1. หน่วยการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (Effective Syllabus)
2. แผนการจัดการการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (Effective Lesson Plan)
3. การสอนที่มีประสิทธิภาพ (Effective Teaching)
4. การประเมินผลการทำงานที่มีประสิทธิภาพ (Effective Assessment)


3. มิติสัมพันธ์ 4 ก้าวคุณภาพของครูกับห้องเรียนคุณภาพ (Quality Classroom)

ก้าวเดินที่มีคุณภาพครูมีความสัมพันธ์กับการส่งเสริมให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ ได้กำหนดกรอบไว้ 5 ประการ คือ

3.1 การนำการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียนคุณภาพ
ครูมีโอกาสได้รับการเร่งเร้า ส่งเสริม เพื่อกำหนดกระบวนทัศน์ (paradigm) ในการทำงานใหม่ในห้องเรียน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบในการบริหารจัดการรายวิชาของครู ที่จะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนแนวทางการขจัดการเรียนรู้ เห็นศักยภาพของครูแต่ละคน สามารถสืบค้นจากแหล่งความรู้และมองเห็นแนวทางปรับปรุงต่อยอดความคิดได้ชัดเจน มีการปรับการเรียนเปลี่ยนวิธีสอน สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา

3.2 การออกแบบการจัดการเรียนรู้อิงมาตรฐาน
สามารถวัดได้จากการเป็นนักวางแผน การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ (Lesson Plan) จากหน่วยการเรียนรู้ที่กำหนด เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการและหลักสูตรสถานศึกษา สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

3.3 การวิจัยในชั้นเรียน (CAR-Classroom Action Research)
การจัดการเรียนรู้ การบันทึกตามแผนการจัดการเรียนรู้ และนำผลมาประมวลเมื่อสิ้นปีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เป็นผลงานวิจัยชั้นเรียนที่มีคุณค่า ครูทุกคนมีผลงานวิจัยของตน เป็นฐานที่สำคัญในการนำไปพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาในแต่ละปี สามารถใช้เป็นผลงานในการขอเพิ่มวิทยฐานะได้อย่างมีเกียรติ
เป็นผลที่เกิดขึ้นในก้าวที่ 4 ครู เป็นก้าวของการสรุปองค์ความรู้ ความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่หรือนวัตกรรม (Innovation) เพื่อเผยแพร่และการนำไปต่อยอดต่อไป หลักสูตรสถานศึกษาได้รับการวิจัยและการพัฒนาเป็นกระบวนการที่มีความยั่งยืน

4.4 การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เพื่อการสอนและสนับสนุนการสอน
อยู่ในทุกก้าวเดินของครูโดยเฉพาะอย่างยิ่งก้าวที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นก้าวของการแสวงหาความรู้และการสอน ได้แก่การใช้สื่อสารสนเทศที่กว้างขวางเพื่อการสืบค้นและการเรียนการสอนสู่ห้องเรียนสากล (Global Classroom) หลายอย่างครูสามารถเรียนรู้แนวทางได้จากอินเตอร์เน็ต เช่น การสอนที่ใช้พลังของเด็ก (Power Teaching) เป็นรูปแบบที่ให้นักเรียนสอนเพื่อนต่อในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ มีความตื่นตัวสนุกสนานพัฒนาสมองและบุคลิกภาพเด็กได้ครบทุกส่วน และขณะเดียวกันเด็กก็สามารถเรียนรู้และเลียนแบบจากต้นแบบในอินเตอร์เน็ตเช่นเดียวกัน เช่น การเล่นกีฬา ดนตรีประเภทต่าง ๆ ที่ครูเลือกแนะนำให้เด็กได้แม้ไม่มีความชำนาญ ทำให้สื่อใกล้ตัวครูและนักเรียนมากขึ้น ชุมชนการเรียนรู้กว้างออกจากห้องเรียนไปสู่สากลด้วยจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ (e-mail) การใช้สมุดปูมส่วนตัว หรือ บล็อก (Blog) ที่มีบริการแก่สมาชิก เช่น www.gotoknow.org/ ; http://www.blogger.com/ เป็นต้น

4.5 การสร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline)
วินัยเชิงบวกมีความสัมพันธ์กับทุกก้าวของครู การสร้างฐานข้อมูลนักเรียนรายบุคคลเพื่อศึกษา เช่น ระเบียนนักเรียน แฟ้มประวัติและผลงานนักเรียน มีข้อมูลสารสนเทศและเครือข่ายระบบดูแลนักเรียนอย่างทั่วถึง
ดังนั้น การปฏิบัติต่อนักเรียนในเชิงบวกและการส่งเสริมวินัยให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียน เช่น การสร้างและปฏิบัติตามกฎห้องเรียน (House Rules) การใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำ การแก้ปัญหาและตอบปัญหาเชิงบวก ใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จึงเป็นแนวทางสำคัญต่อการสร้างคุณภาพผู้เรียนได้
สรุป
การบริหารจัดการศึกษาสู่ห้องเรียนคุณภาพ ผู้บริหารและครูคือผู้ที่มีส่วนสำคัญที่สุด ผู้บริหารสถานศึกษาอยู่ในฐานะผู้ขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษา ส่วนครูเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะผู้บริหารจัดการหลักสูตรรายวิชา

5. บทสรุป : 4 ก้าวคุณภาพครูชัยชนะของทุกฝ่าย (win-win solution)

ห้องเรียนคุณภาพ กับก้าว 4 คุณภาพครูจึงเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน การส่งเสริมการทำงานที่เป็นระบบให้เกิดขึ้นกับครู นอกจากจะไม่มีฝ่ายใดเสียแล้ว ยังเป็นชัยชนะของทุกฝ่ายผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่

1) เด็ก ได้รับการเรียนรู้ตามมาตรฐาน มีแบบแผน ไม่อยู่ในภาวะเสี่ยง มีคุณภาพ คือ เรียนเก่งเพราะได้รับความรู้ได้มาตรฐานจากการวางแผน เป็นคนดีเพราะมีระบบการดูแลที่ดีและใช้วินัยเชิงบวก มีความสุขจากการเรียนที่มีบรรยากาศ มีสุขภาพดีเหมาะสม ระบบการดูแลที่ดีเป็นกัลยาณมิตร
2) ครู ได้มีระบบการทำงานที่สอดคล้องกับวิชาชีพ ไม่ทิ้งชั้นเรียน มีความสุขกับการศึกษาค้นคว้าทดลองด้วยวิธีการของตน สร้างสรรค์ผลงาน พอกพูนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญให้เกิดขึ้นตามระยะเวลาในการทำงาน สามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากร่องรอยผลงานสู่การเพิ่มวิทยฐานะที่มีเกียรติได้รับการยอมรับในระดับมืออาชีพ
3) ผู้บริหาร มีการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาจากผลงานการวิจัยของครูทุกคน และต่อยอดความสมบูรณ์ของหลักสูตรสถานศึกษาสู่ความก้าวหน้า มีบุคลากรที่มีคุณค่า แต่ละสถานศึกษาได้สร้างมีองค์ความรู้ที่หลากหลายตามบริบทที่มีอยู่
4) ชุมชนและผู้ปกครอง ได้สถานศึกษาของชุมชนที่มีคุณภาพในการบริหารจัดการ มีการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง มีความเชื่อมั่นในครูและระบบการศึกษา
5) สำนักงานเขตพื้นที่ สามารถกำกับดูแลการจัดการศึกษาของสังกัดได้อย่างมีทิศทาง สามารถควบคุมระดับคุณภาพและมาตรฐานได้ ลดความเสี่ยงด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน สถานศึกษามีความหลากหลายในแนวทางปฏิบัติ (Best Practices) เป็นองค์ความรู้สู่การแลกเปลี่ยนต่อยอดให้ยั่งยืนต่อไป

อ้างอิง / References
โกวิท ประวาฬฤกษ์ ห้องเรียนคุณภาพ. www.iadth.com/ideakru/?tag
มยุรฉัตร ธรรมวิเศษ Classroom’s Quality Development.
http://gotoknow.org/blog/mayurachat17/223361
Chris Biffle Classroom Management Power Teaching Homepage!
http://homepage.mac.com/chrisbiffle/Menu38.html
Howard B. Altman WRITING A SYLLABUS.
http://honolulu.hawaii.edu/intranet/committees/FacDevCom/
guidebk/teachtip/writesyl.htm
Jennifer Berry. 5 Secrets to Making Learning Fun. http://searchwarp.com/swa276450.htm
Office of Faculty and TA Development., The Ohio State University.
“The First Day of Class” http://ftad.osu.edu/Publications/firstday.htmlSyllabus en.wikipedia.org/wiki/Syllabus

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด : หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ มาตรา 6-7 จัดการศึกษา เพื่อ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เก่ง ...