วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วคม.รุ่นโหล โก๋ลืมแก่



“โก๋” เรียกคำเต็มว่า จิ๊กโก๋ ที่ติดปากสมัยห้าสิบปีก่อน หมายถึงผู้ที่ทำบุคลิกตนเองให้ยียวนกวนสาว เลียนแบบดารา ที่โด่งดังมากก็เห็นเป็นเอลวิส เพรสลี่ย์ ต้นตำรับเพลงร็อคแอนด์โรล(โยกและคลึง)และดาราหนังที่คนคลั่งไคล้มาก มีสไตล์การแต่งกายด้วยกางเกงคับติ้ว แต่ใส่เสื้อหลวมตัวใหญ่แล้วคาดเข็มขัดเส้นใหญ่ประดับด้วยหมุดเรียงเม็ดให้โดดเด่น ล้อกันแบบตลกว่า “ใส่เสื้อพ่อ กางเกงน้อง” ส่วนทรงผมมักยีให้ฟูเป็นก้อนด้านหน้ามันเท่ห์มาก จะพบว่าวัยรุ่นมีการเลียนแบบมาสักสิบปี และที่เข้ามาคู่กันคือการใช้กางเกงบลูยีนส์เสื้อลายสก็อตตามแบบดาราหนังคาวบอยที่นิยมมาก มีนักพากย์นันทวัน และโกญจนาท ด้วยแล้วมักมีคนเข้าชมเต็มทุกรอบ ดูสนุกสนานทีเดียว กางเกงยีนส์จึงเริ่มนิยมคู่กันมา แต่แบบกางเกงโก๋เริ่มเปลี่ยนเป็นแบบกางเกงคับเป้าขาบานและใส่เสือรัดรูปตามแบบของเดอะบีทเทิลส์(สี่เต่าทอง)แล้วพัฒนามาเป็นกางเกงเป้าสั้น(มาก) ปกติกางเกงและเสื้อจะนิยมตัดแบบวัดตัวที่ร้าน ไม่นิยมกางเกงสำเร็จรูปนอกจากยีนส์ และทรงผมมาเป็นผมยาวปะบ่าเหมือนหญิงมักถูกเรียกว่าฮิปปี้ตามแนวฮาร์ดร็อค ในตอนนั้นเห็นเฉพาะชาย แต่ปัจจุบันจะเห็นเป็นหญิงที่แถมสะดือมาด้วย

“รุ่นโหล” หมายถึงนักเรียนครูที่จบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นต้น (ป.กศ.ต้น) ในปี ๒๕๑๒ ของวิทยาลัยครูมหาสารคาม รุ่นนี้มีนักเรียนจาก ๓ จังหวัดมาเรียนร่วมกัน คือ จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม

วิทยาลัยครูมหาสารคาม ก่อนหน้านี้ชื่อโรงเรียนฝึกหัดครู ตั้งยู่ที่บ้านโนนศรีสวัสดิ์ ริมห้วยคะคางที่เหนือย้ำขึ้นไปคืออ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจานทดน้ำไว้ หากปีใดน้ำหลากรับไม่ไหวก็จะปล่อยน้ำลงมามิให้เขื่อนพัง วิทยาลัยครูมหาสารคามที่อยู่ใต้น้ำก็จะโดนท่วมด้วย สร้างบรรยากาศทั้งเครียดและสนุกไปพร้อมๆ กัน สร้างคุณค่าให้กับชีวิตอีกแบบ

ผู้เรียนครูในวิทยาลัยครูเมื่อ ๔๐ ปีก่อนเรียกว่านักเรียนครู มี ๒ ระดับ คือ ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นต้น (ป.กศ.ต้น) เรียน ๒ ปี รับจากผู้จบมัธยมปีที่ ๖ เดิม (เทียบชั้น ม.๔ ในระบบปัจจุบัน) ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) รับจากผู้จบ ป.กศ.ชั้นต้นที่มีเกรดเฉลี่ยถึงเกณฑ์ ๒.๕ ขึ้นไปเรียน ๒ ปี หากเกรดไม่ถึงและทุนจำกัดออกไปสมัครสอบเป็นครูตามอัธยาศัย แล้วสมัครสอบวิชาชุด พ.ม.เพื่อเพิ่มวิทยฐานะและเพิ่มเงินเดือนด้วย สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองมากทีเดียว เงินเดือนเริ่มที่ ๗๕๐ บาท (ป.กศ.สูง เงินเดือน ๘๕๐ บาท) นับว่าเป็นเงินที่มาก เพราะซื้อทองได้สองบาทที่เดียว(ราคาทองบาทละ ๔๐๐ บาท) หลายคนมีอายุราชการนับได้ถึง ๔๐ ปีก็มี(นับเวลาทวีคูณด้วย) ประสบความสำเร็จได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนและตำแหน่งต่าง ๆ อย่างมากมายซึ่งเป็นการสะสมประสบการณ์ชีวิตราชการที่มีความเพียรพยายามมาก

ชีวิตการเรียนเป็นชีวิตสังคมชาวหอพัก วิทยาลัยครูจะมีหอพักแยกเขตเด็ดขาดหญิง ๓ แห่ง และชายอีก ๓ แห่ง เขียนป้ายขนาดใหญ่ด้วยข้อความว่า “เขตหอพักหญิง ห้ามเข้า” เว้นแต่หอพักชาย มีอาจารย์โสดควบคุมประจำหอพัก ในปีแรกผู้เขียนได้พักที่หอวิริยะ มีอาจารย์ดร.วิชัย แข่งขัน ดูแลนักเรียนทุกคนก็มีความรักเคารพต่อท่านมาก โดยหอพักจะมีสองชั้น ชั้นล่างเป็นล็อกเกอร์เก็บของส่วนตัวทุกอย่าง ห้องน้ำรวม และห้องส้วม ส่วนชั้นบนเป็นห้องอ่านหนังสือ และห้องนอน ที่ห้องนอนจะมีเตียงสองชั้น เตียงละ ๑ คน กฎระเบียบห้ามอ่านหนังสือในห้องนอน ห้ามกินอาการและทำกิจกรรมใด ๆ เพราะจะรบกวนผู้อื่น มีข้าวแดง แกงร้อน และแม่เตี้ย บริการถาดหลุมที่โรงอาหารที่ทุกคนต้องเตรียมช้อนส้อมติดตัวไปเอง การฝึกวิชาควงช้อนก็จะเกิดขึ้นระหว่างเดินทางในเวลาอาหารด้วย

วิทยาลัยมีกิจกรรมที่ฟูมฟักความเป็นครู ให้เรียนการเพาะปลูกผัก เรียนกีฬา ศิลปะดนตรี เรียกว่าครบเครื่องคนเป็นครู มีผู้อำนวยการคือนายวิศาล ศิวารัตน์ ตามด้วย ดร.อรุณ ปรีดีดิลก และ ดร.สายหยุดจำปาทอง ตามลำดับ คณาจารย์ที่สำคัญได้แก่ อาจารย์บัณฑิต วงษ์แก้ว อาจารย์สุขสันต์ สุขสมบูรณ์ อาจารย์เสนาะ ทั่วทิพย์ อาจารย์สมหมาย ฮามคำไพ อาจารย์นิคม มัจจุปะ อาจารย์สมสมัย แข่งขัน (ประเสริฐสม) อาจารย์ชื่น โคตรุฉิน เป็นต้น
อาจารย์สมหมาย ฮามคำไพ ให้เกียรติร่วมงานด้วย

ความผูกพันระหว่างอาจารย์และนักเรียนจึงเหนียวแน่นมาก โดยเฉพาะรุ่นโหล แม้เวลาผ่านไปถึง ๔๐ ปีกว่า ก็ยังมีการจัดให้มีการพบกันต่อเนือง โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพระหว่าง ๓ จังหวัด สมาชิกมีจำนวนมากและเหนียวแน่นดีมาก เพราะมีแกนนำสำคัญอย่าง ดร.สังคม ภูมิพันธ์ (มมส.) คุณไมตรี ศรีษะภูมิ คุณมานิจ จันโทริ คุณสุริยา มาตะวงษ์ คุณจำนง อาศิรวัจน์ (ผอ.สก.สค.มค.และอดีต ผอ.สพท.กส.เขต.๑) คุณบุญชัย บุ่งนาแซง(นายกเทศบาลตำบลห้วยผึ้ง) คุณจงจินต์ ชำนาญหมอ(เพิ่มสินธุ์) คุณอรุณรัตน์ เดไปวา(ต่างสมบัติ) คุณคมสัน ฆารพันธ์ คุณบุญถม ธารเลิศ คุณสถิตย์ ยุรชัย (รอง ผอ.สพท.กส.เขต.๓) คุณประดิษฐ์ นาถเหนือ (รอง ผอ.สพป.มค.เขต.๓) คุณวรวิทย์ ปักกาโล (ผอ.ร.ร.จำปาศรี)

คำว่า “โก๋ลืมแก่” เป็นอาการแสดงความดีใจที่ได้พบกัน แม้จะมีพิธีกรดำเนินรายการแต่ไม่ค่อยจะมีใครตั้งใจฟังสักเท่าใด อาหารก็จะเหลือเต็มโต๊ะก็ไม่มีใครอยากจะกินสักเท่าใด ในเวลาที่มีจำกัดประมาณ ๓ ชั่วโมง จึงเน้นการสนทนาเก็บเกี่ยวความหลังมาอวดกันอย่างสนุกสนานเหมือนตอนเป็นนักเรียนครู น่าสังเกตคือการแต่งกาย ที่แสดงความเป็นโก๋รุ่นเก่ากลายพันธุ์ ของแต่ละคน จึงเรียกว่า “โก๋ลืมแก่”





คุณณรงค์ บุญเหลี่ยม ว่างงาน ผอ.โรงเรียน ก็ผันตัวเองเป็นนักปั่น แต่งชุ่ดเก่งมาร่วมงาน









อาลัย ว.ค.ม
ชมวิดีโอ ได้ที่
http://www.youtube.com/watch?v=c_-e_BTj4hI อาลัย ว.ค.ม

(บทเพลงแห่งความทรงจำ)

เขียวแดงของเราวิไล จำร้างไกลแสนเศร้า
ประทับใจของเรา ฝากเงาไว้ในสายตา
รุ่มจามจุรี เขียวแดง ศรีสง่า
ห้วยคะคางล้ำค่า ไหลรินหลั่งมา ใฝ่หาอาลัย

จากไปใจคะนึง ว.ค.ม เป็นสรวงแห่งดวงฤทัย
พระคุณพระพิรุณยิ่งใหญ่ แม้นอยู่หนใด
เลือดเขียวแดงอำไพอยู่ในหัวใจจนตาย

เรารักกัน...เราชอบกัน
จากไปหัวใจสัมพันธ์คร่ำครวญถึงกันชาว ว.ค.ม.
ว.ค.ม. .... ว.ค.ม.
ถิ่นเราเคยชอบพอเราจะไม่ขอลืมเลือน
ลาแล้วเพื่อน...ลาแล้วเพื่อน
จากลาวิญญายังเตือน ไม่ขอลืมเลือนชาว ว.ค.ม

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ถุงเท้านักเรียน : โรงเรียนกำลังเพิ่มรายจ่ายกับผู้ปกครองโดยไม่จำเป็นหรือไม่

นักเรียนไทย ต้องแต่งกายตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ เสื้อผ้า เข็มขัด ถุงเท้า และรองเท้า ทุกชิ้นถือเป็นเครื่องแบบ ต้องแต่งให้ถูกระเบียบในเวลาเรียน ส่วนมากจะพบว่าถึงเวลาเข้าชั้นเรียนต้องถอดรองเท้าเรียงรายไว้หน้าห้อง เหลือแต่ถุงเท้า นักเรียนหญิงเป็นถุงสีขาว ชายมักเป็นสีน้ำตาล แล้วแต่สถานศึกษาและระดับชั้น นายชงค์ วงศ์ขันธ์ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการเคยกล่าวอย่างมีอารมณ์ขันเมื่อปี ๒๕๓๐ ที่หาดบางเบน จังหวัดระนองนานมาแล้วว่า “เราสอนให้นักเรียนเป็นลิเก” ฟังแล้วงง ท่านได้อธิบายต่อเพื่อคลายความสงสัยว่า เวลาลิเกออกแสดงหน้าเวทีนั้นจะสวมแต่ถุงเท้า เหมือนนักเรียนของเรา ฟังแล้วยังติดหูมาจนทุกวันนี้

ผู้เขียนก็อยากจะบอกว่า “ถุงเท้าอย่าเรียกว่าถุงเท้า ให้เรียกผ้าถูโรงเรียน” ถุงเท้านักเรียนส่วนใหญ่นั้นสกปรก อาจจะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะนักเรียนชายที่ใส่กับรองเท้าผ้าใบ บางคนจะเหยียบพับส้นรองเท้าไม่ดึงขึ้นหุ้มส้นเพราะต้องถอดตอนเข้าชั้น หรือเข้าพบครูที่มักเขียนปิดหน้าห้องเสมอว่า “ถอดรองเท้า” จนรองเท้าที่เหยียบส้นจนเป็นรอยพับถาวรไปเลย ที่สำคัญที่เป็นจนชินตาคือส้นและปลายถุงเท้าทั้งชายหญิงจะขาดเป็นรูเห็นหัวแม่เท้าและส้นเท้า ผู้ปกครองที่พอมีเงินก็ต้องสิ้นเปลืองเงินซื้อถุงเท้าแต่ผู้ไม่มีเงินก็ต้องปล่อยให้มันขาดอยู่อย่างนั้น หากจะนำมาวิเคราะห์จะพบว่าค่าถุงเท้ามากกว่าค่ารองเท้าเสียอีก กระทบกับรายจ่ายของผู้ปกครองที่มีความจนเป็นทุนอยู่แล้ว
วัฒนธรรมหารถอดรองเท้านี้ ถือได้ว่าเป็นของตะวันออก พบในญี่ปุ่น ที่สำคัญคือวัฒนธรรมชาวพุทธที่ต้องถอดรองเท้าที่แสดงว่าเราไม่ยืนสูงกว่าพระเวลาใส่บาตร เข้าโบสถ์วิหาร และปูชนียสถานต่าง ๆ แสดงความเคารพต่อสถานที่ พระสงฆ์ก็จะเป็นผู้นำจนกลายเป็นธรรมเนียมที่คนไทยปฏิบัติเพราะถูกกล่อมเกลามาช้านาน แต่มีจุดต่างที่เห็นอยู่คือ พระท่านไม่ได้ใส่ถุงเท้า
ผู้บริหารโรงเรียนน่าจะได้ว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ไม่ควรถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไร้สาระ ถ้าจะให้นักเรียนใส่รองเท้าเข้าไปเหมือนในยุโรป จะต้องมีวิธีการกำจัดความสกปรกของรองเท้าอย่างเป็นระบบ และเหมือนกันทั้งโรงเรียน หากไม่แล้วจะเป็นภาระให้กับนักการภารโรงมาก

หากจะใช้วิธีถอดรองเท้าเข้าชั้นเรียน ควรคิดระบบประกันความเสี่ยงเรื่องของถุงเท้าไว้อย่างรอบคอบเพื่อให้บรรยากาศในชั้นเรียนเป็นไปตามธรรมชาติ ได้แก่ ความสกปรก ขาด หรือมีกลิ่นเหม็น จำเป็นต้องมีวิธีคิดเพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยง เช่น การใช้รองเท้าแตะเข้าชั้นเรียนเหมือนเด็กญี่ปุ่นในบทความเรื่อง “ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองกับการมองการปฏิรูปการศึกษาญี่ปุ่น” ที่เสนอไปแล้ว โดยโรงเรียนเตรียมรองเท้าแตะไว้ให้นักเรียนเปลี่ยนเมื่อถึงโรงเรียน จะมีรองเท่าสวยอย่างไรก็ต้องเปลี่ยนเป็นแบบที่โรงเรียนจัดให้ เพื่อควบคุมความสะอาดและรักษาถุงเท้าที่ต้องสวมใส่อยู่

ในวัดพุทธโดยทั่วไป จะพบว่าท่านก็มีวิธีการรักษาความสะอาดด้วยการก่อซีเมนต์เป็นสี่เหลี่ยมใส่น้ำแล้วมีที่เหยียบล้างตรงกลางก่อนขึ้นศาลา มีผ้าหยาบให้เช็ดอีกครั้งก็สะอาดตามสมควรแล้ว แต่กับนักเรียนแล้วอาจใช้วิธีการกำหนดรูปแบบ เช่น มีที่เคาะรองเท้าทำจากขุยมะพร้าวที่มีขายทั่วไปหรือฝาจีบน้ำอัดลม(ที่ทำเองได้)เป็นขั้นแรก แล้วตามด้วยผ้ากระสอบป่านหยาบ และผ้าห่มเก่าเป็นครั้งสุดท้าย มีสร้างความเข้าใจ กำกับและประเมินผล หรือวงจรคุณภาพของเดมิ่ง (PDCA) เพื่อเป็นการฝึกทำย้ำเตือนเพื่อพัฒนาลักษณะนิสัยที่ยั่งยืน ยังนำผลการแก้ปัญหาไปสรุปเป็นองค์ความรู้ได้อีกด้วยเพราะเป็นการแก้ปัญหาเชิงการวิจัย

เรื่องที่กล่าวหลายคนอาจคิดว่าไม่เป็นเรื่อง แต่หากตรองให้ถี่ถ้วนแล้วมีความละเอียดอ่อนพอสมควร เพราะมีผลต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของผู้ปกครองที่มีความยากจนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตอนลูกสาวผู้เขียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ พบว่า ลูกมีถุงเท้าที่ต้องใช้เต็มกะละมังขนาดใหญ่ที่ใช้กันทั่วไป นับได้ประมาณ ๕๐ คู่ คำนวณแล้วไม่ต่ำกว่าพันบาททีเดียว มันแพงกว่าค่ารองเท้าเสียอีก เป็นประเด็นสำหรับนักบริหารโรงเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญว่า ก็จะพบความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงสร้างประโยชน์และความพึงพอใจแก่ลูกค้าคือนักเรียนและผู้ปกครองต่อไป

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ท่านจะทำอย่างไรเมื่อลูกน้องทะเลาะกันขั้นรุนแรง


ท่านจะทำอย่างไรเมื่อลูกน้องทะเลาะกันขั้นรุนแรง

กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักบริหารในระบบราชการทั้งในสำนักงานและโรงเรียน เพราะการบริหารจัดการใด ๆ ก็ตาม ปัจจัยที่มีปัญหามากที่สุดของ 4Ms (Man Money Material & Management) คือ “คน” เพราะคนเป็นผู้มีชีวิตจิตใจและเป็นผู้ใช้ปัจจัยอื่น ใช้ไม่ได้ก็เกลียด ใช้ไม่ดีก็โกรธ โดยทั่วไปแล้วองค์กรใหญ่ หรือสำนักงานที่มีคนจำนวนมากจะบริหารจัดงานได้ง่ายกว่าหน่วยงานที่มีคนน้อย เพราะสามารถที่จะสร้างปทัสถานทางสังคม (Norms) ได้ง่ายกว่า เช่น การกำหนดเวลาเริ่มงาน การแต่งกาย ตลอดการรักษากฎระเบียบ มักจะปฏิบัติงานตามกันได้ดีกว่าสำนักงานที่มีคนน้อย ยิ่งน้อยยิ่งลำบาก กล่าวว่ามีคน ๕ คนก็เท่ากับมีคน ๕๐๐ จำพวก น่าลำบากใจในการทำงานราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนที่มีครูเพียงไม่กี่คน เพราะหยิกเล็กก็เจ็บเนื้อ ยิ่งองค์กรใดก็ตามที่คนมีการทะเลาะเบาะแว้งขาดความสามัคคีด้วยแล้วก็จะเหมือนเกิดมะเร็งร้ายในองค์กรเลยทีเดียว
ความขัดแย้ง (Conflict) โดยสากลจะหมายถึงการมีความเห็นต่าง ถือเป็นเรื่องที่ดีควรให้เกิดเสียด้วย อาจมีความเห็นต่างได้ในหลายแง่ มักเกิดในที่ประชุมที่มีประธานและสามารถยุติได้ในวาระ แต่การทะเลาะ (Quarrel) ในเชิงวิวาทโต้เถียงกันที่ไม่ได้เกิดจากองค์ประชุม แต่มีการตั้งป้อมเอาชนะคะคานด้วยคารมกันโดยไม่มีประธานนี่สิน่าห่วง ผู้อยู่รอบข้างก็มักจะเลือกเป็นผู้ชมไม่อยากเป็นเสือสวมเกือกเอาตัวรอดไว้ก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเบอร์หนึ่ง เพราะหากเกิดในองค์กร หากมีอาการชัดเจนก็เท่ากับเป็นอาการประท้วงของทีมงามที่ต้องแก้ไขให้หายไป (Eliminate) โดยพลัน ไม่อาจลอยตัวอยู่เหนือปัญหาได้

ผู้ที่จะเห็นสัญญาณได้ดีที่สุดและปัดความรับผิดชอบไม่ได้คือ ผู้นำองค์กรตั้งแต่ระดับต้นจนถึงระดับเหนือขึ้นไป แม้บางครั้งอาจไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นชัดนักก็อาจจับจากอากัปกิริยาได้ว่ามีความขัดแย้ง การนินทาว่าร้ายไม่โต้ตอบกันก็ไม่น่าจะหนักใจอะไร แต่ที่ถือว่ารุนแรง ก็คือการพูดด่าว่ากันด้วยถ้อยคำที่รุนแรง แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด หรือหยาบคาย แล้วยกระดับไปถึงขั้นลงไม้ลงมือ หรือไม่ก็ถึงขั้นฟ้องร้องเอาความ นี่แหละเป็นระดับการทำลายองค์กรที่น่าห่วงมาก เพราะการไม่แก้ไขตามระดับของอาการก็เท่ากับเป็นการเพาะเชื้อร้ายเอาไว้รักษาไม่หาย โดยมีบางระดับเท่านั้นที่แก้โดยพลันก็หายไป

กรณีตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๔๕ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็มีความสุขกันดีเรียกได้ว่า ชนะทั้งคู่ (win-win solution) คงจะไม่ว่าอะไรหากจะนำมาเล่าเพื่อเป็นข้อคิดให้ต่อยอดในการแก้ปัญหาต่อไป
เมื่อคราวที่ผู้เขียนปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการอำเภอแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนชั้นสองของที่ว่าการอำเภอ โดยชั้นบนเป็นมุขยื่นออกมาและเป็นห้องประชุมเล็กและห้องของนายอำเภอที่พบเห็นอยู่ทั่วไป ด้านปีกขวาจะเป็นที่ทำงานของศึกษาธิการอำเภอและสัสดีอำเภอและสำนักงานปศุสัตว์อยู่รวมกันซึ่งเรามักจะมีภารกิจร่วมกันภาคสนามบ่อย ๆ สำนักงานมีเจ้าหน้าที่ไม่มากนัก เพียง ๗ คน สำนักงานเป็นหน่วยงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องประสานและกำกับนโยบายของกระทรวงในระดับอำเภอ การทำงานรับมือกับทุกกรมกองที่ส่งมาและต้องรวดเร็วเบ็ดเสร็จ ต้องทำงานหนักหลายภารกิจในเวลาเดียวกันให้ได้ คนของศึกษาธิการอำเภอจึงต้องทำงานอย่างน่าเวียนหัวเพราะเป็นตัวแทนของ ๑๔ กรมในสมัยนั้น ต้องจับงานพร้อมกันหลายหน้าภายใต้บุคลากรที่จำกัด เจ้าหน้าที่ใหม่ก็อาจเครียดบ้างแต่นานเข้าก็มีทักษะ

เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากงานที่ทำ แต่มาจากความเป็นตัวตนซึ่งฝรั่งเรียกว่า “อีโก้” ที่ผู้เขียนพอจะรู้ถึงความบาดหมางของลูกน้องอยู่บ้าง ระหว่างเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ชื่อ ปนัดดา เธอเป็นคนสวย และมีรสนิยมความสวยเริดประเสริฐศรีพอสมควร และเธอก็ทำหน้าที่เป็นเลขาผู้แทนราษฎรอีกด้วย มีความรับผิดชอบสูง เรียนรู้และทำงานได้รวดเร็ว มีรถเก็งขับมาทำงาน และอีกคนชื่อ วารุณี ที่ย้ายเข้ามาภายหลัง เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี โดยสถานภาพก็เป็นภรรยาผู้บังคับกองร้อย ตชด.ในพื้นที่ คนทั่วไปเรียกว่า “คุณนาย” ทำงานร่วมกันมาประมาณ ๔ ปีก็เห็นความสนิทสนมกลมเกลียวกันดี มีความสุขกันดี แต่ระยะหลังมามีอาการค่อนแคะกันบ้าง ฟังได้จากน้ำเสียง และกิริยาท่าทางก็พอจะเห็นเค้าลางก็ได้แต่เก็บและรับความเคลื่อนไหวเอาไว้คิดว่าไม่น่าจะมีความรุนแรง ผู้เขียนจะไม่ถามบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ข้างเคียง ที่อาจจะเคยเห็นทั้งคู่มีปากเสียงกันตอนที่เราไม่อยู่ ซึ่งทุกคนก็คงจะอึดอัดใจและอยากจะบอก

ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ขณะที่ผู้เขียนนั่งปฏิบัติงานที่โต๊ะทำงานริมสุดของหอง ที่ธรณีประตูทางเข้าตรงประตูห้องประชุมเล็กนายอำเภอก็ได้ยินเสียงมาแต่ไกลที่น่าตกใจจากคุณปนัดดาผู้พี่ ด้วยเสียงอันดังฟังชัดว่า “มึงจะเอาอะไรกับกู” พร้อมกับมือชี้มาที่คุณวารุณีผู้น้องซึ่งเธอเองก็เหมือนอยู่ในอาการช็อค นั่งนิ่ง ไม่โต้ตอบ ทุกคนในสำนักงานก็นิ่งตะลึงงันเช่นเดียวกันรวมทั้งเจ้าหน้าที่ในห้องสัสดีอำเภอ ไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์อย่างนี้ ทุกคนเงียบหมด ผู้เขียนเองก็งง สมองก็เริ่มมึนกับการประมวลผลว่าจะแก้สถานการณ์นี้อย่างไรดี ดีที่ผู้พี่ใช้เพียงประโยคเดียวแล้วก็เดินมีที่โต๊ะทำงานด้านหน้าสุดของผู้เขียนด้วยอาการบึ้งตึง ไม่พูดอะไรอีก และรู้ว่าผู้เขียนก็อยู่ด้วย
ทันทีที่หายมึนงง ก็ตัดสินใจว่าจะต้องเจรจากับทั้งสองคน ก็ได้ลุกจากที่นั่งไปเรียกทั้งสองว่าขอพบที่ห้องนายอำเภอ ขอให้เลขาหน้าห้องเปิดห้องนายอำเภอซึ่งทราบแล้วว่า ขณะนั้นนายอำเภอออกไปนอกที่ตั้ง ได้ไปนั่งรออยู่ก่อนประมาณ ๑ นาทีทั้งสองก็เข้าไป

ผู้เขียนให้ทั่งคู่นั่งเคียงกันที่ชุดรับแขกไม้มะค่าตัวใหญ่ ส่วนผู้เขียนนั่งเก้าอี้ของผู้ที่มาพบนายอำเภอตรงหน้าทั้งคู่โดยมีโต๊ะวางของสำหรับรับแขกคั่นอยู่ ผมปล่อยให้เวลาผ่านไปประมาณ ๑ นาที เพื่อที่จะประมวลวิธีคิดและพูดไปด้วย จึงเริ่มพูดเพียงคนเดียวด้วยน้ำเสียงที่เรียบและเบาแต่ชัดเจน ขณะที่ตาก็จะมองตรงไปยังทั้งคู่ตลอดเวลา ว่า “รู้สึกตกใจ และมึนงงต่อสิ่งที่ได้เห็น คนอื่นก็คงคิดเหมือนกัน ตกใจว่าทั้งสองที่ถืออยู่ตลอดเวลาว่าเป็นน้องสาว ซึ่งพร้อมทั้งวุฒิภาวะ ฐานะ และสดสวยจะมีความบาดหมางทะเลาะกันต่อหน้าธารกำนัลได้อย่างนี้ รู้สึกเสียใจมาก ขอบคุณที่น้องไม่โต้ตอบ แสดงว่าทั้งสองมีเรื่องคาใจกันอยู่ แต่ก็ไม่อยากให้มีเหตุการณ์อย่างนี้อีก ผู้พี่เห็นด้วยไหม (คุณปนัดดา พยักหน้ารับแสดงว่าเห็นด้วย พร้อมสีหน้าที่เรียบเฉย) แล้วผู้น้องล่ะ (วารุณี ก็พยักหน้าด้วยอาการเดียวกัน)

เมื่อทั้งสองเห็นด้วย (ผู้เขียนสั่งและยื่นหงายมือซ้ายออกไปก่อน) ผู้พี่หงายมือซ้ายมาทับ (คุณปนัดดาก็ทำตาม) ผู้น้องหงายมือซ้ายมาทับ (คุณวารุณี ก็ทำตาม) ผู้พี่เอามือขวามาประกบ และผู้น้องเอามือขาวมาประกบ (แล้วผู้เขียนก็เอามือขวาประกบกุมมือเอาไว้แล้ว กล่าวต่อ)...ที่นี่เป็นห้องนายอำเภอ เป็นห้องทีมีเกียรติ มีพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ค้อมครอง และเป็นที่รโหฐาน สิ่งที่พูดขณะนี้มีเพียงเราซึ่งเป็นคู่กรณีเท่านั้น เรื่องที่คาใจอยู่ก็แล้วกันไป ให้อภัยกันและกัน ได้ใช้ไหม (ทั้งคู่พยักหน้าตอบ ดูท่าทางยังงงอยู่ เห็นแววตาแสดงความพอใจ) จากนี้ให้คุยกัน ตกลงกันเองขออภัยกันและกัน นานเท่าที่จะพอใจ หวังว่าจะเห็นความรักของพี่และน้องเป็นไปอย่างเดิม ให้ตกลงตามนี้”

ผู้เขียนปล่อยมือออกในขณะที่มือของพี่และน้องยังจับกันอยู่ ใช้เวลาประมาณ ๕ นาที ออกจากห้องนายอำเภอ และไม่ได้กลับมาสำนักงานอีก จนวันใหม่ผู้เขียนก็ทำทีไปราชการพื้นที่ เข้ามาตอนบ่ายก็เห็นว่าทั้งสองก็ทำงานด้วยกันปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นึกว่าอย่างไรเสียเธอทั้งสองคงจะเกรงใจเราจึงแกล้งทำ แต่เวลาผ่านนับเดือนและปีหลังจากนั้นมาก็เห็นว่าทั้งคู่ทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข จนกระทั่งถึงคราวที่สำนักงานถูกยุบต้องแยกทางกันไปผู้พี่ไปอยู่สำนักงานวัฒนธรรม ผู้น้องได้ไปเป็นครูปฏิบัติงานในโรงเรียน ผู้เขียนก็ไปปฏิบัติงานนำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดเดียวกัน ก็ยังเห็นความห่วงใยและผูกพันกันอย่างดีเหมือนเดิม

หากจะให้ผู้เขียนวิเคราะห์ปัจจัยที่ขจัดความขัดแย้งขั้นทะเลาะกันดังกล่าวนี้มีประเด็นหลัก ดังนี้
๑. การแก้ปัญหาโดยพลันของผู้นำ ไม่ปล่อยให้ร้าวฉานยาวนานจนกลายเป็นมะเร็วร้ายขององค์กร
๒. การใช้ที่รโหฐานในการเจรจาแก้ปัญหา เป็นการปิดกั้นมิให้คนอื่นที่ไม่ใช่คู่กรณีเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เกิดการประจันหน้า และการประจานต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งไม่เหมาะสมกับบุคลากรที่ถือว่าทุกคนก็มีศักดิ์ศรีและมีเกียรติกันทุกคน จะสามารถสนทนากันได้โดยเปิดอกที่ไม่มีใครรู้ เป็นสัญญาใจซึ่งกันและกัน
๓. การได้มีโอกาสการสัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมตะวันตกที่ใช้การโอบกอดแสดงความรัก กอดพี่ กอดน้อง แต่ผู้เขียนคิดว่าไม่ใช่ธรรมเนียมไทยและจะใช้แบบสามเส้าก็ไม่ได้ ก็ใช้วิธีสัมผัสมือน่าจะใช้ได้ มือ ตาและกายบางส่วน(เว้นแต่เท้า) ถือว่าเป็นหน้าต่างแทนใจที่สำคัญ

ผู้เขียนปฏิบัติงานในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ต่อมาพบว่า มีเรื่องการทะเลาะและขัดแย้งในหน่วยงานและโรงเรียนให้เห็นบ่อย แต่มักพบว่าผู้บริหารมักจะปัดความรับผิดชอบออกจากตนเอง ส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปก็จะไม่เหมาะสม หรือไม่ก็เบอร์หนึ่งขององค์กรนั่นแหละทะเลาะกับลูกน้องเสียเอง ซึ่งไม่ควรทำ
การเสนอกรณีการทะเลาะกันขั้นรุนแรง เพียงเพื่อให้เห็นว่า วิธีการใช้ได้กับกรณีที่เกิดขึ้น อาจเป็นแนวทางช่วยพัฒนาทักษะการบริหารจัดการซึ่งเบอร์หนึ่งเท่านั้นจะเป็นผู้จัดการ

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด : หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ มาตรา 6-7 จัดการศึกษา เพื่อ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เก่ง ...