วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ภาษาอังกฤษ : ภาษาที่สองของอาเซียน


เด็กไทยกับภาษาอังกฤษ

ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ความเป็นประเทศเปิดในกลุ่ม ๑๐ อาเซียน และภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาที่สอง มีการประชาสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน ถือว่าประเทศเราน่าจะมีความพร้อมในระดับหนึ่งโดยเฉพาะในหมู่นักเรียนนักศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นไป แต่โดยรวมเท่าที่เห็นดูเหมือนภาษาอังกฤษในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาจะไม่กระดิกหู นักเรียนจำนวนมากที่พูด อ่านและเขียนทั้งไม่มีทักษะและไม่ได้ ผู้เรียนในระดับปริญญาก็อยู่ในปัญหาเดียวกันที่ในระดับนี้จำเป็นต้องใช้ศัพท์เทคนิคที่เป็นสากล แต่กลับอ่าน แปลและใช้สื่อสารไม่ค่อยได้ ทั้งที่กระทรวงได้กำหนดให้เรียนภาษาต่างประเทศตั้งแต่ระดับประถมศึกษา อีกทั้งครูผู้สอนในโรงเรียนถูกกำหนดให้จบปริญญาตรีทุกคน โดยสถานศึกษาไม่น้อยที่มีวุฒิปริญญาโทและเอก คำถามที่น่าห่วงในตลาดการแข่งขันในอาเซียนคือ เราจะถูกจัดให้ยืนอยู่อันดับที่เท่าใดของตลาดแรงงาน

ภาพจากhttp://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9570000121241


กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานส่งผ่านและสถานศึกษาจึงถูกสังคมจ้องมองในฐานะผู้จัดการศึกษาให้กับลูกหลาน ถึงเวลาที่ควรจะเร่งปรับกระบวนท่าการจัดการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองได้แล้ว แทนคำว่าภาษาต่างประเทศที่ทำให้ความหมายและความสำคัญหายไปเป็นอย่างมาก

ภาษาอังกฤษ : ภาษาที่สองของอาเซียน 

คำว่า “ภาษาที่สอง” หากกระทรวงศึกษาธิการยังไม่เคลื่อนไหว เขตพื้นที่และสถานศึกษาก็ประกาศใช้เป็นนโยบายก็ไม่น่าจะผิดต้องถึงขั้นถูกสอบสวนวินัยหรอก การบริหารการเปลี่ยนแปลงด้วยหลักคิดใหม่ๆ (Paradigm) กระทรวงส่งเสริมมาหลายปีแล้ว จึงสามารถคิดได้เองโดยไม่รอสั่งการ 


ลูกเสือ สด.ณ ค่ายลูกเสือเอราวัณ

เพียงระดมสมองอีกนิดเดียวจะสามารถเรียกหลักคิด วิธีทำ และกิจกรรมภายในสถานศึกษากลับมาได้มาก เพราะสามารถแทรกอยู่ในวิถีชีวิตการเรียนรู้ทุกห้องเรียนและกิจกรรมการเรียนรู้ที่เรียกความคุ้นเคย เน้นทักษะการสื่อสารจากการพูด สนทนา แสดงความคิดเห็น อธิบายสิ่งต่างๆ เป็นอันดับต้น เสริมพลังเด็กที่ได้จากการเรียนรู้กับเพื่อนและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดในกิจกรรมที่เตรียมเพื่อความสนุก คุนเคย เป็นธรรมชาติ จึงตามด้วยการอ่านและการเขียน  ส่วนไวยากรณ์ให้แทรกภายหลังในระดับสูงขึ้นที่เป็นโครงงาน (Project) ในระดับมัธยม งานศึกษาค้นคว้า (Study) ในระบปริญญา และวิจัย (Research) ระดับบัณฑิตศึกษา 

ผู้บริหารครูอาจารย์ มีโอกาสได้คิดได้ตื่นตัวสร้างความพร้อมให้กับตนเอง ฐานบุคลากรเราดีอยู่แล้วติดปีกแนวคิดให้นิดเดียวก็บินได้ สามารถสรา้งแบบปูพรมได้พร้อมกันด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พระธาตุอิงฮัง ไม่ลึกไม่ลับ

พระธาตุอิงฮัง มีลักษณะทรงเหลี่ยมหรือสถูปทรงฟองน้ำ (อาจารย์จิตต์ บัวบุศย์) เช่นเดียวกับพระธาตุพนม พระธาตุหลวงนครเวียงจันทน์ อยู่ห่างจากเมืองสวันนะเขต สปป.ลาว ไปทางเหนือสิบกว่ากิโลเมตร
กำแพงชั้นนอก เป็นวิหารคดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทำด้วยปูนปางมารวิชัย เบื้องล่างให้เป็นที่เก็บอัฐิเจ้าศรัทธาจนเต็มวิหารคด นอกกำแพงด้านตะวันออกเป็นเขตวัดที่ดูแล มีอาคารกุฎีที่พักพระภิกษุ ศาลาการเปรียญ โดยไม่มีการการก่อกำแพงล้อมรอบ



บริเวณภายในจะพบพระธาตุที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว โบสถ์ และศาลาพิธีหนึ่งหลังเป็นที่น่าสังเกตว่าไม่พบโต๊ะหมู่บูชาอย่างที่พบทั่วไป 

ภายในกำแพงแก้วล้อม ถือเป็นเขตพิเศษกล่าวว่ามีพระพุทธรูปฝั่งไว้เต็มไปหมดจึงห้ามผู้หญิงเข้าเกรงไปเหยียบย่ำ มีองค์พระธาตุอิงฮัง ที่ก่ออิฐถือปูนสูงเด่น มีสภาพของธรรมชาติดูแลไม่มีการบูรณะ คงพบแต่ประตูด้านตะวันออกเท่านั้นที่ทาด้วยสีทองให้เด่นเหนือส่วนอื่นและเป็นประตูเดียวที่เปิดได้ โดยประตูที่เหลือมีรูปปั้นตามแนวของขอมยืนปิดทางเข้าไว้หมด ใครไปกราบไหว้สักการะก็จะมีธูปเทียนจำหน่าย ที่น่าสนใจก็จะเป็นกระทงดอกไม้ และมะพร้าวอ่อนที่เป็นแนวปฏิบัติของชาวบ้าน

ที่พบไม่ลึกและไม่ลับ คือ ภาพและรูปปั้นที่ปรากฏให้เห็นทั้งสี่ด้าน นับจากประตูที่ปิดทองด้านตะวันออก ประตู ๒ บานมีภาพสลักตามคติความเชื่อของขอมในลัทธิไศวะของศาสนาฮินดูที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย


ศาสนาฮินดู เชื่อในเหล่าเทพที่สถิตที่เขาพระสุเมรุบนสวรรค์ ที่ถือว่าเป็นแกนของจักรวาล คือ พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก พระศิวะเป็นผู้ทำลาย และพระวิษณุเป็นผู้ปกป้องรักษา จึงทำให้เกิดความเชื่อหลายลัทธิ เช่น ลัทธิเชื่อในพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นเทพสูงสุด ลัทธิเชื่อในพระศิวะ ลัทธิเชื่อในพระเทวีซึ่งพระชายาเทพทั้งหลาย เป็นต้น
ความเชื่อในนิกายพระศิวะ เชื่อในพลังศิวลึงค์ที่เป็นความคิดที่พราหมณ์ในสมัยก่อนคิดขึ้นมาเพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์เพื่อบูขาพระศิวะ มีการสร้างรูปปั้นเป็นศิวลึงค์บนฐานโยนีพระอุมาที่ไหญ่กว่า มีพิธีสวดมนต์ บวงสรวง สรงด้วยน้ำเพื่อให้เจ้าแม่กาลีหายโกรธ (เจ้าแม่กาลีเป็นอีกภาคหนึ่งของพระอุมา) ชาวบ้านรองเอาน้ำไปใช้ภัยพิบัติก็จะไม่เกิด







ภาพปั้นและสลักในพระธาตุอิงฮัง จะพบแนวความเชื่อในลัทธิไศวะเป็นพื้นฐาน โดยบานประตูด้านตะวันออกทั้งสองบาน เป็นภาพแสดงการเสพสมด้วยท่าทางต่างๆ ทั้งหมดบานละสี่ภาพ









รูปปั้นด้วยปูนเสมือนเทพ เป็นภาพที่แสดงความพิสดารของศิวลึงค์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งสี่ทิศโดยด้านตะวันออกมีเทพ ๒ องค์ บ้างก็เอามาถือ พาดไหล รองนั่ง พันเอว เป็นต้น ซึ่งความเชื่อตามลัทธิไม่ถือว่าเป็นเรื่องลามกแต่เป็นการแสดงพลังของพระศิวะต่อพระอุมาให้พึงพอใจจะได้ไม่โกรธเป็นเจ้าแม่กาลีที่นำเอาความชั่วร้ายมาให้ เชื่อว่าเป็นการขจัดภัยอันแต่เดิมคือโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาดตามแนวคิดฮินดู





วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ยางนา พลังงานทางเลือกบนดินที่ถูกลืม

     การบริโภคเชื้อเพลิงนับวันจะเพิ่มขึ้น ดูจากปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นบนถนนในปัจจุบัน เครื่องยนต์มีแทบทุกบ้านตั้งแต่เครื่องยนต์เล็ก รถจักรยานยนต์ บางบ้านมีรถยนต์หลายคันแม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะสูงขึ้น มีการคิดหาเชื้อเพลิงทางเลือก อาทิ สบู่ดำ และแอลกอฮอล์ สำหรับกลุ่มเครื่องยนต์ดีเซลแล้วน้ำมันยางขาดการศึกษาและพัฒนาที่เป็นระบบ

ยางนา เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เมื่อโตเต็มที่จะได้ขนาด ๓-๔ คนโอบ อายุยืนยาวมากกว่าอายุคน เป็นไม้เนื้อแข็งมีน้ำมันมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ปลวกไม่กิน จึงนิยมนำมาสร้างบ้านอยู่อาศัย เกิดในที่ราบใกล้ลำน้ำ ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปมักเกิดขึ้นหนาแน่นรวมกันเป็นดง ลูกยางจะถูกลมพัดไปที่ไกลๆได้ด้วยใบพัดในตัว ลูกยางที่ร่วงจากต้นใหม่ๆ สามารถนำไปเพาะง่ายเพียงแช่น้ำให้เปียกชุ่มแล้วลงถุงเพาะไม่นานก็เกิดยอดแล้ว ปลูกง่ายโตเร็ว ยังพบว่าไม้ขนาดใหญ่ที่สามารถขึ้นรวมกับไม้ยืนต้นอื่นเป็นป่าเบญจพรรณที่เป็นทั้งแหล่งอาหารและเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ

ชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณลุ่มน้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำโขงตลอดจนลำน้ำสาขา สำเนียงอีสานมักเรียกว่า “ต้นยาง” โดยใช้กลางลิ้นกดเพดานปากแล้วจึงออกเสียงออกเสียงออกครึ่งปากครึ่งจมูก จะเป็นเอกลักษณ์และชี้ต้นไม้ได้ถูก อาจเขียนเป็น ยาง หรือ ญาง อักษร ย และ ญ อาจใช้แทนภาษาเขียนได้แต่ยังไม่มีอักษรแทนสำเนียงอีสานแท้ๆ ได้ตรงนัก โดยทั่วไปรู้จักในชื่อยางนาเพื่อการสื่อที่ถูกต้องในภาษากลางว่าไม่หมายถึงยางพาราที่เรียกสั้นๆ ว่า “ยาง” เช่นเดียวกัน กว่า ๕๐ ปีคืนไปคนไทยรู้จักน้ำมันยางเป็นอย่างดี รู้จักวิธีใช้ประโยชน์ที่หลากหลายตั้งแต่ใช้เป็นน้ำมันตะเกียง เป็นเชื้อเพลิง เป็นสารต้นและสารผสมในการทำเครื่องใช้ เครื่องมือ ได้แก่ ผสมกับชันเพื่อยาเรือ ยาตะกร้าไม้ไผ่เป็นคุตักน้ำได้ จนถึงเป็นยารักษาโรค

วิถีชีวิตดั้งเดิมมีความผูกพันกับยางมานาน เป็นตำนานคู่กับท้องถิ่นมาแต่โบราณที่เดียว จะพบว่าใช้เป็นชื่ออำเภอ อาทิ อำเภอยางชุม ที่ยโสธร อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และชื่อหมู่บ้านอีกมากมาย บางดงยาง (เชียงขวัญ ร้อยเอ็ด บ้านท่าขอนยาง (มหาสารคาม) บ้านยางเดี่ยว (ธาตุพนม) บ้านยางโล้น (กุดบาก สกลนคร) บ้านยางสาว (จำปาสัก) ฯลฯ  


การเจาะน้ำมันยาง เมื่อ ๕๐ ปีก่อนใช้วิธีการเจาะลำต้นส่วนล่างให้เป็นเบ้าเข้าไปในเนื้อไม้แล้วใช้ไฟเผาเบ้าให้ลุกไหม้แล้วใช้ใบไม้ตีให้ไฟดับ น้ำมันก็จะไหลลงมาที่เบ้าทั้งวันและจะตักเอาไปใช้ได้ในวันรุ่งขึ้น ต้นยางนาขนาดหนึ่งคนโอบ(อายุประมาณ ๒๐ ปี)จะให้น้ำยางเกือบครึ่งลิตรและจะไปเก็บรวมจากต้นอื่นอีก เมื่อน้ำมันหยุดไหลก็จะใช้ไฟเผาอีก จะได้น้ำมันใช้ตลอดถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงกับตะเกียง ต้นยางเก่าแก่ในหมู่บ้านแถบภาคอีสานจะพบเบ้าไฟดังที่กล่าวนี้เสมอ แต่หลังจากมีการใช้น้ำมันก๊าดมาแทนการเอาน้ำมันจากต้นยางที่ไม่ต้องซื้อก็หายไป ไม่พบการเจาะลำต้นยางอย่างที่เห็นแต่เดิม ส่วนวิธีการใหม่จากผลงานวิจัยของดร.สมพร เกษแก้ว ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ใช้วิธีการเจาะด้วยสว่านลึกเข้าไปพร้อมกับเสียบท่อรับน้ำยางที่ไหลออกมาแทนการเผา เมื่อนำมาสกัดแล้วจะเป็นเชื้อเพลิงกับเครื่องยนต์เป็นพลังงานทดแทนได้

พลังงานที่เราใช้ทุกวันนี้ เป็นการขุดเจาะดูดเอามาจากแหล่งนำมันดิบใต้ดิน ซึ่งเกิดมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ที่เรียกวาคาร์บอนิเฟอรัส เมื่อ ๓๖๐ ล้านปีผ่านมาและไม่ช้าก็จะหมดไป แต่ที่ผ่านมาโลกยังสร้างพลังงานบนดินทดแทนอย่างสมบูรณ์ พืชสัตว์หลายชนิดมีน้ำมันและไขมันในตัว ยางนาก็เป็นพืชน้ำมันที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิงเป็นไม้เศรษฐกิจมาแต่โบราณ แต่ขาดการศึกษาและพัฒนามาใช้ สาเหตุสำคัญหนึ่งก็คือรัฐได้กำหนดให้ยางนาเป็นไม้หวงห้าม ห้ามตัด ห้ามแปรรูปและมีไว้ครอบครอง ใครตัดต้องได้รับโทษจำคุก คนจึงหวาดกลัว จึงขาดความตระหนักที่จะปลูกและรักษาในที่ดินตนเพราะเกรงจะมีความผิด พบว่า มีการปล่อยให้ตายจากการถมดินที่โคนต้นยางไม่กี่เซนติเมตรเพื่อสร้างหมู่บ้านก็ทำให้ตายทั้งยืนแล้วและจะปล่อยให้ผุโค่นลงเองอย่างไร้ค่าไม่สามารถตัดโค่นมาใช้ประโยชน์ได้ อนาคตอาจจะไม่เหลือต้นยางในแผ่นดินไว้ให้รุ่นลูกหลานเห็นก็เป็นได้

น่าจะถึงเวลาที่พระราชบัญญัติเกี่ยวกับไม้หวงห้ามควรได้รับการทบทวนแก้ไข มีการวิจัยและพัฒนาพลังงานบนดินเพื่อทดแทนพลังงานนำเข้าและพึ่งพา ส่งเสริมโอกาสการปลูกและนำไม้ไปใช้สอยในที่ดินตนเอง ส่งเสริมการปลูกสร้างชุมชนป่าเพื่อเป็นแหล่งพลังงานบนดิน สร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้แหล่งอาหาร ใบที่ร่วงสะสมเป็นอินทรีย์สารสร้างเห็ดดินทั้งหลายที่ไม่สามารถเพาะในโรงเรือนได้ เช่น เห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดน้ำหมาก เห็ดระโงก เห็ดตับเต่า จึงเป็นแหล่งเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน

แนวทางสำคัญในการพัฒนาส่งเสริมพลังงานจากยางนา ควรนำกระบวนการคุณภาพองค์สามตามแนวพระราชดำริของในหลวง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา คือ

เข้าใจ คือ มีการศึกษาคุณประโยชน์ของยางนา ทบทวนกฎหมายด้านทรัพยากรป่าไม้ที่ใช้มาแต่อดีต มีการวิจัยสร้างองค์ความรู้ด้านพลังงานบนบก ความสำคัญและแนวโน้มด้านพลังงานบนบก  
เข้าถึง นำองค์ความรู้ด้านทฤษฎีไปสู่การพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการผลิตพลังงานบนบก วิจัยและพัฒนาเป็นต้นพลังกับเครื่องยนต์กลไก และ
พัฒนา คือ นำองค์ความรู้ที่พบไปต่อยอด วางแผน การกำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนาสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เหมาะสม เป็นเขตมรสุม มีปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ แสงแดด และความชื้นที่เหมาะกับความเจริญและความหลากหลายทางชีวภาพเหนือกว่าหลายประเทศเพียงแต่แสวงหาองค์ความรู้มาพัฒนาส่งเสริม ก็จะเป็นผู้นำในการสร้างความยั่งยืนคืนสุขได้

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด : หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ มาตรา 6-7 จัดการศึกษา เพื่อ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เก่ง ...