กาลครั้งนั้น...
ในปี 2514-2516
ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในทีมงานช่างภาคสนาม
(Line Service
Mechanic) ในตำแหน่งช่างซ่อมอากาศยานชั้นสาม (Aircraft
Mechenic III) ของบริษัทแอร์อเมริกา (Air America Inc.) ที่ฐานบินอุดรธานี ซึ่งเป็นบริษัทรับซ่อมเครื่องบินบางรุ่นให้กับฐานทัพสหรัฐ
รับผู้ที่จบระดับอนุปริญญา แต่เราก็จบเหมือนกันแต่เป็นวุฒิทางครู
(ป.กศ.สูง-จากวิทยาลัยครูมหาสารคาม) เขาก็รับและฝึกอบรมหลักสูตรช่างซ่อมเครื่องบิน
(Mechanic Trainee) ที่ศูนย์ฝึกของบริษัท
มีผู้เข้ารับการอบรม 25 คน สามเดือนแรกต้องเรียนภาษาอังกฤษแบบเร่งรัด 300 600 900
และ 1200 ตามด้วยหลักสูตรเร่งรัดทฤษฎีการบิน เครื่องยนต์ เครื่องมือ และอื่นๆ
หกเดือนจบหลักสูตร ถูกจัดแยกย้ายลงกลุ่มงานต่างๆ มีชุดทำงาน ด้านหลังเสื่อปักคำว่า AIR AMERICA
สีแดงในชุดสีเทาและซื้อเครื่องมือช่างชื่อตรา Proto (Profesional Tools) หรือ Snap-on ประแจเป็นระบบนิ้วฟุต ใช้เรียกขนาดตามสัดส่วนของนิ้วฟุต ต่างจากญี่ปุ่นที่เป็นระบบเซินติเมตร และราคาค่อนข้างแพงแต่บริษัทให้ผ่อนส่ง
กลุ่มงานที่ถูกส่งไปประจำ
บริษัท จะส่งผู้จบการอบรม ไปประจำฐานทันที โดยไม่ได้สอบถามความสมัครใจ ได้แก่
1) ช่างประจำฐานซ่อมในโรงงาน
ที่เป็นงานประจำห้องซ่อมเฉพาะด้าน
เช่น เครื่องยนต์ กลไก ใบพัด ที่จะต้องนำไปเปลี่ยนเมื่อชำรุดเสียหายที่ภาคสนาม
2) ช่างซ่อมบำรุงภาคสนาม (Line Maintenance)
ทำงานแก้ปัญหาด่วนปกคิเป็นลานจอดเครื่องบิน มี 2
ส่วน คือ
1. ฝ่ายเครื่องบินปีกทั่วไป (Fixed Wings)
ที่พบมีเครื่องบินลำเลียงขนาดกลาง ๒ เครื่องยนต์ รุ่น C123
เครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ 4 เครื่องยนต์รุ่น C130 เครื่องบินโจมตี
2 ที่นั่ง รุ่น T28 และเครื่องบินตรวจการลาดตระเวน 4 ที่นั่ง
6 ลูกสูบ รุ่น L19) เป็นต้น (แต่ไม่พบ DC8)
และ
2. เครื่องบินปีกหมุน (Rotary Wings) คือเฮลิคอปเตอร์ มีแบบ UH34D ชิคอร์สกี้ 4 ใบพัด ใช้เครื่องยนต์ลูกสูบ
และแบบ BELL
แบบ 2 ใบพัด ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบหมุนโรเตอร์
เฮลิคอปเตอร์ แบบ UH34D-Sycorsky
ผมถูกจัดเข้าทำงานภาคสนาม ประจำเครื่องปีกหมุนของชิคอร์สกี้
มีชุดงานภาคสนาม 3 ชุดหมุนเวียนตามกะงาน ชุดละ 6 – 10 คน มีหัวหน้าชุดขาวหนึ่งคน
คือ
ชุดของนาวาล (Naval Crew) หัวหน้าเป็นชาวฟิลิปปินส์
ชุดสาริพงค์ (Saribongse Crew) ชาวไทย และ
ชุดหง (Hunk
Crew) หัวหน้าหง (H.K Hung) เป็นคนเกาลูน-ฮ่องกง ได้ร่วมงานก่อนกลับฮ่องกง ต่อมาเป็นคนไทยชื่อสนิท (ลืมนามสกุล)และวีระศักดิ์
หิรัญรักษ์ มีช่างผู้ร่วมทีมชุดสีเทาที่พอจำได้ แรกๆมีชาวฟิลิปปินส์คือคุณเรย์ ก่อนที่จะกลับไป และแทนด้วยคนไทยทั้งหมด มี คุณเยี่ยม พิมสมาน
จากสงขลา คุณประเสริฐ
ชินธรรม จากนครศรีธรรมราช คุณนิกร คำมีศรีสุข จาก กทม.
คุณประชุม โสภณพงศ์
จาก กทม. คุณอิทธิบูรณ์
จันปลั่ง จากจันทบุรี เป็นต้น และมีคนงานลูกมือชุดสีน้ำเงิน
(labor) 3 คน
การทำงานภาคสนาม
3 ทีมช่างจะเปลี่ยนเวลาทุก 3 เดือน มี 3 กะ คือ
กะเช้า เวลา 06.00-14.00
กะบ่าย เวลา 14.00-22.00 และ
กะกลางคืน เวลา 22.00-06.00 มักเรียกว่า Grape yard
หรือ night shift หรือกะผีหลอก (ในยุโรปมักพบต้นองุ่นเกิดคลุมสุสาน)
การเข้างานจะใช้การตอกต้องก่อนเวลางานเสมอช้าไม่ได้แม้แต่
1 นาทีที่จะต้องถูกขีดด้วยหมึกแดงและจะถูกเตือนทันทีทุกครั้ง
หากถึงสามครั้งก็จะได้รับซองขาวเชิญออกไป
ซึ่งทีมงานไม่เคยมีสักคนแม้ว่าชอบที่จะดื่มเที่ยวหลังงานด้วยกันบ่อยๆ
สมุดปูมเครื่องบิน - Log book
มีปกเป็นโลหะอลูมินั่มให้ทนสภาพ นักบิน
(Pilot) จะบันทึกปัญหาของเครื่องหลังการบินปฏบัติงานในสมุดปูมประจำเครื่อง การบันทึกปัญหา เราเรียกว่า Squawk สมุดปูมจะถูกนำมาที่ศูนย์ซ่อม (Line Shack)
บางปัญหาสามารถซ่อมได้บนลานจอดแม้แต่เปลี่ยนเครื่องยนต์
ส่วนปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษและหลายวันจะต้องนำมาซ่อมที่โรงซ่อม
ปัญหาของเครื่องบิน UH34D ที่ต้องซ่อม ได้แก่
เครื่องสั่นอย่างรุนแรง (High Frequency Vibration)
สาเหตุมาจากเครื่องยนต์ เช่นจุดระเบิดไม่ปกติที่สามารถแก้ไขได้ การสันดาบไม่สมบูรณ์ บางครั้งเสียหายต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ทั้งชุด เป็นเครื่องที่ผ่านการซ่อมและรันอินในแผนกซ่อมมาแล้วเท่านั้น
สั่นระดับกลาง (Medium Vibration)
เป็นการชองเครื่องสั่นแบบเขย่าแนวตั้ง (Vertical Vibration) มาจากใบพัดใหญ่ใหญ่ (Main Roters) และห้องเกียร์ใบพัดใหญ่ (Gear Box) จากการหลวมของข้อต่อต่างๆ จนถึงแกนใบพัดใหญ่หลวม ต้องกวดให้ให้ได้ค่า เป็นงานใหญ่ทีเดียวเพราะต้องใช้เครื่องมือพิเศษ
สั่นด้านข้าง (Low/Lateral Vibration)
มาจากใบพัดหาง (Tail Rotor Blade) ตั้งค่าองศาผิดหรือหลวมต้องปรับแก้
เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ซิคอร์สกี (UH34D) 4 ใบพัด รุ่นนี้มีปัญหาจุกจิกมากกว่าเครื่องเบลล์ (UH1) แบบ 2 ใบพัด เพราะใช้พลังจากเครื่องเจ็ต และมีปัญหาน้อยกว่า
ใบงาน (Worksheet Procedure) คือใบสั่ง TO-Technical Order
กฎเหล็กของช่างซ่อมเครื่องบิน คือ ต้องทำตามขั้นตอนของใบงาน (ใบสั่ง TO-Technical Order) งานซ่อมใหญ่จะปฏบัติตามใบงาน (Worksheet Procedure) ทุกครั้ง ใบงานจะบอกวิธีการทำซ่อมอย่างละเอียด มีขั้นตอนครบถ้วนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ
มีที่ลงชื่อช่างผู้ซ่อม (Mechanic) หัวหน้าทีม (Chief) และผู้ตรวจรับรอง (Supervisor)
คนที่จะต้องอ่านบ่อยที่สุดคือหัวหน้าทีม คอยกำกับตรวจ ชี้นำ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ที่เรียกว่า "ชุ่ย" หรือ fuck up เป็นเรื่องร้ายแรงทีเดียว
โดยปกติก่อนปฏิบัติการบินจะมีผู้ตรวจสอบคุณภาพ (Quality Control- QC ) ประทับตราประจำตัวรับรอง หากเป็นงานใหญ่ นักบินทดสอบจะต้องบินทดสอบรับรองก่อนเสมอ
โดยสรุป แม้ว่าช่าง หัวหน้าช่าง ผู้ตรวจคุณภาพจะรู้การเครื่องบินเป็นอย่างดี
แต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้บินคือนักบินเท่านั้น
เฮลิคอปเตอร์รุ่น UH34D ชิคอร์สกี (Sikorsky)
ชาวรัสเซียเป็นผู้ออกแบบ มีพลังขับจากเครื่องยนต์แบบวงกลม 2 แถวๆ ละ 9 รวม 18 ลูกสูบ ส่งพลังขึ้นไปขับห้องเกียร์(Main Rotor Gear Box) และใบพัดใหญ่ 4 ตัวบน (Main Rotor Blades) และใบพัดหาง 4 ตัว (Tail Rotor Blades) เคยใช้ในสงครามลาวและเวียดนาม
ปัญหาเครื่องคือเสียงดัง สิ้นเปลือง และจุกจิกมาก ตอนหลังถูกปรับเป็นเครื่องโบเจ็ต
2 ตัวที่มีน้ำหนักเบาเป็นต้นกำลัง เรียก Twinpac ก่อนที่จะปลดระวางมา 40 ปีแล้วเนื่องจากชิ้นส่วนข้อต่อย่อยต่างๆ จุกจิกมาก ชำรุดเสียหายบ่อย
ต้นทุนการซ่อมสูง
ปัจจุบัน เครื่องเทอร์โบเจ็ตถูกนำไปใช้กับเครื่องบินแทนเครื่องยนต์ลูกสูบแล้ว เช่น เรื่องบินลำเลียงสัมภาระ (Carco) รุ่น C123 และ รุ่น C130 ในทุกวันนี้
มารู้จักเครื่องบินที่กล่าวถึง
Helicopter UH34D Sycorsky
ใช้เครื่องยนต์วงกลม 2 แถว 18 ลูกสูบ มีที่นั่งนักบินสองคน
นักบิน (Pilot) อยู่ด้านซ้าย นักบินมือสอง (Co-pilot) อยู่ด้านขวา
มีหน้าปัทม์และเกจ์วัดต่างๆสองชุดเหมือนกัน
Helicopter Bell - UH1
เครื่องเบลล์ 2 ใบพัดขับด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบคู่
นักบิน (Pilot) อยู่ด้านซ้าย นักบินมือสอง (Co-pilot) อยู่ด้านขวา
มีหน้าปัทม์และเกจ์วัดต่างๆสองชุดเหมือนกัน
C123 - Carco Aircraft
เป็นเครื่องลำเลียงสัมภาระขนาดกลาง เครื่องยนต์วงกลม 2 แถว 18 ลูกสูบ 2 เครื่อง
ระยะต่อมาเปลี่ยนใช้เป็นเคร่ื่องยนต์กังหันที่เบาและกินน้ำมันน้อย เรียกว่า Turboprop-Turbo Propeller
นักบิน (Pilot) อยู่ด้านซ้าย นักบินมือสอง (Co-pilot) อยู่ด้านขวา
มีหน้าปัทม์และเกจ์วัดต่างๆสองชุดเหมือนกัน
T28 - Attack Aircraft (ลาว - เต้ซาวแปด)
เป็นเคร่ื่องบินโจมตี 2 ที่นั้ง ทั้งยิงปืนและทิ้ง
ระเบิด ใช้เครื่องยนต์วงกลม 2 แถว 18 ลูกสูบ
นักบิน(Pilot)อยู่หน้า นักบินมือสอง(Co-pilot)อยู่หลัง
L19 - Observe Aircraft (Light Aircraft)
เป็นเครื่องบินลาดตระเวนและตรวจการ ใช้เครื่องยนต์ 6 แนวนอนลูกสูบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น