วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ห้องเรียนคุณภาพ จากแนวคิดการจัดการศึกษาเชิงระบบในประเทศนิวซีแลนด์

การจัดการศึกษา ที่มุ่งไปสู่เป้าหมายอันสูงสุด (Ultamate Goals) คือ "ผู้เรียนมีคุณภาพ" นั้น หลักและวิธีคิดถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ กระแสพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" พระองค์ทรงให้ไว้นั้น เป็นการจุดประกายแนวคิด กล่าวคือ

- เข้าใจ คือ การเข้าใจความเป็นตัวตนของตน ปรกอบด้วยความปรารถนา ควมต้องการ แรงจูงใจอย่างแจ่มชัด เข้าใจบทบาทหน้าที่ตน ภาระงานตน เรียกว่ารู้เรา รู้ตันทุนหรือหน้าตักตนเอง
- เข้าถึง คือ เข้าถึงผู้รู้หรือแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้ได้และเข้าถึงองค์ความรู้ หลักคิด ทฤษฎ๊ ปรัชญาต่าง ๆ อย่างแจ่มแจ้งทะลุปรุโปร่ง เอาไว้เป็นหลัก
- พัฒนา เป็นการทำ การปฏิบัติตามหลัก เพื่อต่อยอดความรู้ให้ดีขึ้นและเกิดองค์ความรู้ใหม่ตามทิศทางของตน

จึงถือว่ากระแสพระราฃดำรัสให้คุณค่าและควรน้อมนำมาปรับใช้ในการทำงานของทุกคนทุกฝ่าย เช่นเดียวกับการจัดการศึกษาตามแนวทางปฏิรูปของไทย การน้อมนำหลักคิดไปประยุกต์ใช้ย่อมจะเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาได้เป็นอย่างดี

การยกระดับคุณภาพการศึกษาของเราที่ใช้จุดเน้น "ห้องเรียนคุณภาพ" ตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้เกิดผลไปสู่เป้าหมายสูงสุดดังกล่าวได้ แต่วิธีการที่จะการเป็นไปตามแนงทางนั้น ย่อมเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละสถานศึกษา หรือเขตพื้นที่การศึกษาที่จะออกแบบและขับเคลื่อน

ระบบการบริหารจัดการศึกษาของประเทศนิวแลนด์ ดูแล้วมีความละม้ายกับระบบการจัดการศึกษาของเรามาก วิธีคิดและระบบการจัดการเรียนการสอน หากจะศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้ย่อมจะช่วยประหยัดเวลา ซึ่งมีความน่าสนใจมาก ดังนี้

1. หลักการ การให้ความสำคัญในการจัดการศึกษา
1) เน้นความสำคัญที่ระบบการเรียนรู้มากที่สุด
2) เชื่อมโยงกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและ
3) ระบบกิจกรรมในระบบการเรียนรู้

2. ระบบการเรียนรู้
ครูดำเนินการภายใต้ 4 กระบวนการ
1) การจัดทำหลักสูตรและวางแผนการสอน
2) การเตรียมการสอน
3) จัดการเรียนรู้
4) ประเมินผลและวางแผนปรับปรุง

2.1 การจัดทำหลักสูตรและวางแผนการสอน ใช้หลัก 4 ประการ
1) จัดการเรียนการสอนตามระดับความสามารถของผู้เรียน และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนประสบความสำเร็จ
2) สนับสนุนให้เด็กมีทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียนรู้ รวมทั้งมีความเต็มใจที่จะเรียนรู้ ทดลองสิ่งใหม่ ๆ
3) จัดการเรียนรู้ที่หลากหลายสอดคล้องกับลักษณะการเรียนรู้ของเด็กที่แตกต่างกัน
4) กำหนดสภาพความสำเร็จ และตัวชี้วัดสำหรับประเมินผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

2.1.1 ระดับประถมศึกษาทุกขนาด
• ให้ความสำคัญกับการรู้ภาษา คือการอ่าน และการเขียน พร้อมกับวิชาคณิตศาสตร์เป็นสำคัญ
• สาระอื่น ๆ ใช้วิธีบูรณาการ
• ทุกวัน จะเรียนเรื่องภาษา 2 คาบ คณิตศาสตร์ 1 คาบ เพราะเป็นพื้นฐานสำหรับการคิดและการเรียนรู้ทั้งปวง
• ส่วนวิชากลุ่มสาระ มักจัดตารางรวมไว้ตอนบ่าย โดยจัดเป็นหัวข้อและให้บูรณาการกลุ่มสาระต่าง ๆ
• โรงเรียนจะจัดให้หลักสูตรยืดหยุ่นพอสมควร เช่น บางโรงเรียนมีการสอนศาสนา บางแห่งเรียนเรื่องท้องถิ่น

2.1.2 โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา
• มักจะเป็นโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่
• จัดการศึกษาแยกกลุ่มสาระชัดเจน นักเรียนมีโอกาสเลือกรายวิชาได้มากขึ้น เพื่อให้เด็กค้นพบตนเอง
• หลาย ๆ วิชารวมกัน จะมีลักษณะเป็นกิจกรรมในหลักสูตร เช่น ด้านช่าง ศิลป์ ดนตรี การแสดง ซึ่งนักเรียนจะทำต่อเนื่อง เป็นกิจกรรมนอกเวลา

2.2 การเตรียมการสอน
โรงเรียนให้บทบาทครูกับเรื่องการสอนเป็นส่วนสำคัญที่สุด ครูจึงมีเวลาเต็มที่หลังจากเลิกเรียน หรือในระหว่างคาบที่ว่าง คือ
• สื่อการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแผนการเรียนรู้ของวันถัดไป
• หน่วยการเรียนรู้ก็จะมีหัวข้อกว้าง ๆ คล้ายกัน คือ
– วัตถุประสงค์การเรียนรู้
– ทักษะที่เด็กควรได้รับ
– กระบวนการเรียนรู้ และ
– เกณฑ์การประเมิน
โดยครูจะบันทึกไว้เพื่อประโยชน์ในการสอนของตนเอง

2.3 จัดการเรียนรู้
จะมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจนระหว่างระดับประถมศึกษากับระดับมัธยมศึกษา ดังนี้

2.3.1 ระดับประถมศึกษา
– เน้นการคละชั้น
– ครูจะกล่าวนำเรื่องที่จะสอนในคาบนั้น และแบ่งกลุ่มเด็กอย่างหลากหลาย ตามความสามารถ และมอบกิจกรรมให้ทำตามความสามารถ
– บางครั้งอาจแบ่งเพื่อช่วยเหลือกัน
– ครูมีกติกาชั้นเรียนอย่างชัดเจน
– เน้นการทำงานเป็นกลุ่ม ใช้เวลาส่วนใหญ่เข้าไปสอนแต่ละกลุ่มๆ ละ 10 นาที ทำให้รู้จุดอ่อนจุดแข็งของเด็กแต่ละคน
– ครูมักให้เด็กได้เคลื่อนไหวทั้งในคาบและระหว่างคาบ บางโรงเรียนจะแทรกกิจกรรมพลศึกษาระหว่างคาบ
– บรรยากาศในห้องเรียน มีมุมหนังสือ มุมนั่งล้อมวงฟังครูเล่านิทาน มุมคอมพิวเตอร์ ให้เด็กค้นคว้าโดยไม่แยกชั่วโมงให้เรียน

2.3.1 ระดับมัธยมศึกษา เด็กมีความพร้อมมากขึ้น
- แบ่งระดับชั้น จัดเป็นชั้นเรียน
- มีกิจกรรมกลุ่มที่ทุกคนจะทำกิจกรรมเดียวกัน
- มีห้องเรียนเฉพาะต่าง ๆ เช่น ห้องปฏิบัติการ ห้องตามวิชาเลือก ห้องสมุด
- ผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการโรงเรียน จะมีส่วนในการสอนด้วยตามสัดส่วน จึงรู้งานวิชาการเป็นอย่างดี

2.4 ประเมินผลและวางแผนปรับปรุง

2.4.1 ระดับประถมศึกษา ให้ความสำคัญ

– การประเมินผลระหว่างเรียน
– การประเมินผลงานนักเรียน

โดยรวบรวมและจัดแสดงไว้ในห้องเรียนเพื่อให้เด็กไดภาคภูมิใจในรูปแบบต่างๆ เช่น เย็บรวมเป็นเรื่อง ติดบนฝาผนัง แขวน และจะเปลี่ยนแปลงทุก สัปดาห์ ตามหน่วยการเรียนรู้ใหม่

เมื่อเชื่อมโยงการสอนแบบคละชั้นและแบ่งกลุ่มแล้วครูจะรู้จักเด็กเป็นรายบุคคลแล้วนำมาปรับปรุงการเรียนได้ตลอดเวลา

- การประเมินผลปลายภาค

2.4.2 ระดับมัธยมศึกษา
- มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนยังคงประเมินผลเอง
- มัธยมศึกษาตอนปลาย มีระบบการประเมินจากสำนักงานรับรองคุณวุฒิการศึกษาโดยมีการปรับปรุงเป็นระยะ แต่ก็มีกรอบและเกณฑ์ให้โรงเรียนเป็นผู้ประเมิน ทำให้ลดภาระการสอบระดับชาติลง

3. ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

3.1 หลักการ
– การส่งเสริมให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์เต็มความสามารถ
– ส่งเสริมให้เด็กทุกคนประสบความสำเร็จ

3.2 ขั้นตอนระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีดังนี้
1. การรู้จักเด็กเป็นรายบุคคล
2. การช่วยเหลือนํกเรียน
3. การร่วมมือผู้ปกครองในการพัฒนาผู้เรียน
4. การช่วยเหลือนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ

3.2.1 การรู้จักเด็กเป็นรายบุคคล
- ครูจะรู้จักนักเรียนเป็นอย่างดีจาก อัตราส่วนครูต่อนักเรียน คือ 1: 25
- การแบ่งกลุ่มการสอนที่เน้นความสามารถ ได้ใกล้ชิดนักเรียน
- การประเมินผล

การคัดกรอง ไม่จำเป็นจะต้องมีการคัดกรองทุกคน แต่จะเลือกเฉพาะนักเรียนที่มีปัญหาเฉพาะและมีเครื่องมือเพื่อการคัดกรองเฉพาะ

3.2.2 การช่วยเหลือนักเรียน
1) การช่วยเหลือจากครูที่ปรึกษา
- จะบูรณาการอยู่ในการสอน
- เน้นให้เด็กพัฒนาเต็มความสามารถ
- ใช้วิธีการเชิงบวกให้เด็กก็ภูมิใจในงานตน
- สร้างวินัยเชิงบวกและการมีกิจกรรมที่หลากหลาย
2) การช่วยเหลือโดยนักวิชาชีพ กรณีที่ค้นพบ ต้องอาศัยนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และครูการศึกษาพิเศษที่ปฏิบัติงานในหลาย ๆ แห่ง

3.2.3 การร่วมมือกับผู้ปกครองในการพัฒนาผู้เรียน
- การพบผู้ปกครองมักไม่เป็นทางการ เพราะครูต้องสอน ได้แก่ ช่วงก่อนหรือหลักเลิกเรียน
- การพบเป็นทางการ ได้แก่ การประชุมผู้ปกครอง
- ผู้ปกครองที่เป็นคณะกรรมการบริหารโรงเรียน จะมีความรู้สึกมีส่วนร่วมสูง

3.2.4 การช่วยเหลือนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ
นักวิชาชีพ จะปฏิบัติงานในหลายโรงเรียนเชื่อมโยงกับครูที่ปรึกษา ที่ทำหน้าที่หลักในการดูแลเพราะมีความใกล้ชิดกับเด็ก

4. ระบบกิจกรรมนักเรียน
4.1 ระดับประถมศึกษา
– ไม่เน้นการแยกเพราะใช้วิธีบูรณาการ เด็กมีกิจกรรมในช่วงเรียนที่หลากหลายอยู่แล้ว

4.2 ระดับมัธยมศึกษา
– เป็นกิจกรรมในหลักสูตรวิชาเลือกตามความสนใจ ด้านกีฬา ดนตรี ศิลปะ งานช่าง การสแดง ฯลฯ
– มีกิจกรรมด้านบริการสังคม นักเรียนค่อยๆ ค้นพบอัตลักษณ์ของตนเองซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวัยรุ่น
– มีระบบ “บ้าน” รวมกลุ่มตามแนวตั้ง(ทุกชั้นปี) มีครูรับผิดชอบบ้าน มีกิจกรรมบ้าน แข่งขันระหว่างบ้าน การให้รุ่นพี้ดูแลน้อง

5. ปัจจัยความสำเร็จ
• ระบบบริหารที่ดี
• ระบบกระจายอำนาจที่ดี
• จัดทรัพยากรที่เป็นธรรม
• ครูมีบทบาทชัดเจน
• สัดส่วนครูดี
• ภารกิจระดับประถมและมัธยมชัดเจน
• มีระบบประเมินคุณภาพทุก 3 ปี

สรุป

ระบบการจัดการศึกษา ใหความสำคัญบทบาทของครู ครูมีกระบวนการทำงาน 4 ก้าวฃัดเจน ในการวางแผนการสอนด้วยตนเอง เป็นแผนสด และการจัดกิจกรรมการสอน การแบ่งกลุ่มและจัดกิจกรรมที่ที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงเด็กได้เป็นอย่างดีทุกคน แนวทางดังกล่าว มีความสอดคล้องกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทางห้องเรียนคุณภาพ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสกลนคร เขต 2 ปีการศึกษา 2552

อ้างอิง
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้. การศึกษานิวซีแลนด์ : แนวคิดเชิงระบบ. กรุงเทพฯ : พี.เอ.ลิฟวิ่ง จำกัด. 2551.
http://www.carefor.org/content/view/1422/152/

เว็บ โรงเรียนขนาดเล็ก ชื่อ โทเฮ

http://www.tauhei.co.nz/

1 ความคิดเห็น:

A Pu Dome กล่าวว่า...

เป็นแนวคิดที่ดีสามารถนำมาบูรณาการใช้กับโรงเรียนได้

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด : หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ มาตรา 6-7 จัดการศึกษา เพื่อ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เก่ง ...