วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

ปืดเทอมต้องแลหลังเพื่อแลหน้า

โรงงานทั่วไปแม้จะต้องหยุดเครื่องเมื่อสิ้นฤดูการผลิต แต่การบริหารจัดการก็ยังต้องดำเนินอยู่ เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมระบบ ปรับรื้อใหญ่ (Overhaul) เพื่อที่จะเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ชำรุดสึกหรอ และยังต้องประเมินผล การสรุบงบดุลประจำปีซึ่งมีความสำคัญยิ่ง
โรงเรียนก็ถือเป็นองค์กรการผลิตเช่นเดียวกัน แต่มีนักเรียนเข้าไปอยู่ในสายการผลิตและมีการปิดเทอมการผลิตเมื่อครบกระบวนการตามหลักสูตรแล้ว และการ"ปิดเทอม" มักมีความหมายสำหรับเด็ก เพราะมีโอกาสได้หยุดเรียนและได้ไปเที่ยวกับครอบครัว เลยคิดเหมาเอาว่าปิดเทอมแล้วครูก็หยุดการปฏิบัติงานและเป็นโอกาสที่ครูจะได้หยุดตามเด็กไปด้วย แต่แท้จริงแล้ว ครูยังต้องปฏิบัติงานอยู่ในฐานะเป็นบุคลากรของโรงเรียนและของรัฐ คือการวิเคราะห์ ประเมินผลงานประจำปี และมีการปรับปรุงพัฒนาระบบเพื่อรองรับการเปิดเทอมที่เป็นฤดูการผลิตใหม่

ดังนั้น โรงเรียนจึงต้องมีการทำให้กระบวนการบริหารครบวงจร หากมองจากวงจรคุณภาพของเดมิ่ง คือ PDCA ก็คือมีการวางแผน การดำเนินงาน การประเมินผล และการนำไปใช้

อะไร คือสิ่งที่ต้องดำเนินการในช่วงปิดเทอม
งานบริหารโรงเรียน มีงานหลักคือการบริหารงานวิชาการ งานบริหารบุคคล งานงบประมาณ และงานบริหารทั่วไป แต่มีงานสำคัญที่ต้องดำเนินการในช่วงปิดเทอม ได้แก่

การรายงานประจำปี และ
การเตรียมความพร้อมการบริหารโรงเรียน

1. การจัดทำรายงานประจำปี
ผู้เกี่ยวข้องการทำรายงาน คือ ครู และผู้บริหารโรงเรียน ดังนี้

1.1 การรายงานประจำปีของครู
ครูมีภารังานที่ต้องมีการสรุปผลงาน 2 ลักษณะ คือ งานสอน และงานพิเศษ ดังนี้

1.1.1 การรายงานการสอน
เป็นการรายงานผลการใช้หลักสูตร ที่ไดรับมอบหมายงานการสอนประจำวิชาหรือประจำชั้น ครูจึงมีการรายงาน 2 กลุ่ม คือ
1) รายงานผลการใช้หลักสูตรรายวิชา ในฐานะผู้บริหารจัดการรายวิชา และ
2) การรายผลการใช้หลักสูตรระดับชั้น ในฐานะครูประจำชั้นของระดับประถมศึกษา
คือ การรายงานผลการใช้หลักสูตรที่ได้รับมอบหมาย เสนอข้อเด่น ข้อด้อย และข้อเสนอแนะต่อสถานสถานศึกษา เพื่อการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรรายวิชาและหลักสูตรสถานศึกษาโดยรวม
รายงานผลการปฏิบัติงานสอน จึงเป็นการรายงานการความสำเร็จของการสอน การสร้างนวัตกรรม สื่อ และเทคโนโลยี การวิจัย เป็นต้น เป็นองค์ความรู้เกิดขึ้นในระดับปัจเจก ที่สามารถนำไปต่อยอดด้วยวงจรคุณภาพได้ต่อไป และเพื่อประกอบการขอรับความชอบและเพิ่มวิทยฐานะ

1.1.2 รายงานผลการปฏิบัติงานโครงการ

เป็นการรายงานผลการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายพิเศษนอกเหนือจากการสอน ปกติเป็นงานทั่วไปที่โรงเรียนได้มอบหมายให้เป็นเจ้าภาพตามโครงสร้างการบริหาร เช่น งานฝ่ายบริหารบุคคล งานการเงิน เป็นต้น หรือการได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการสำคัญต่าง ๆ เช่น โครงการอนามัยโรงเรียน งานการปกครองนักเรียน งานระบบดูแลยักเรียน งานพัฒนาห้องสมุด เป็นต้น

แนวทางจัดทำรายงานของครู


การรายงานความสำเร็จโครงการและกิจกรรม ได้จากวัตถุประสงค์โครงการ โดยปกติควรดำเนินการดังนี้
1) รายงานแบบบันทึกเสนอสรุปรายงานความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ อาจเสนอแบบสรุปเท่านั้นหรือการเสนอพร้อมเอกสารตามแบบที่ตกลงไว้
2) รายงานโครงการแบบเอกสารเย็บเล่ม เป็นการสรุปผลความสำเร็จตามกรอบวัตถุประสงค์โครงการ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นสภาพปัญหาความเป็นมา และผลการดำเนินงาน (วัตถุประสงค์) และภาคผนวก ประกอบด้วย โครงการ ประกาศ คำสั่งแต่งตั้ง การจัดองค์กร การประสานงาน ปฏิทินดำเนเนงาน ภาพถ่ายและอื่น ๆ
3) รายงานโครงการลักษณะผลงานวิจัย หรืออิงรูปแบบงานวิจัย ประกอบด้วย 5 บท จะทำให้ไดผลงานทางวิชาการเพื่อการค้นคว้าอ้างอิง

1.2 การรานงายประจำปีผู้บริหาร(รายงานประจำของโรงเรียน)

ภารงานของผู้บริหารคืองานโรงเรียน จึงเป็นการรายงานประจำปีของโรงเรียน มี 2 ลักษณะ คือ การใช้หลักสูตร และการบริหารงานตามแผนปฏิบัติการ ดังนี้

1.2.1 รายงานผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษา

เป็นการรวบรวมผลจากการปฏิบัติงานสอนของครู จากการบริหารจัดการหลุกสูตรรายวิชาทุกคนทุกชั้น นำข้อเสนอแนและข้อด้อยต่าง ๆ มาพัฒนาปรับปรุง สิ่งที่ควรดำเนินการได้แก่

1) การรายงานผลการจัดการศึกษาตามหลักสูตร

ความสำเร็จการจัดการศึกษาตามจุดมุ่งหมายหลักสูตร คือ ผลสัมฤทธิ์ตามสาระวิชา พัฒนาการตามคุณสมบัติทีพึงประสงค์ของนักเรียน ในระดับสถานศึกษา เขตพื้นที่และระดับชาติ

2) การปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา

คือการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรสถานศึกษา จากข้อปัญหาและเสนอแนะและแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว รายงานและขอรับความเห็นชอบต่อกรรมการสถานศึกษาที่จะนำไปใช้ในปีการศึกษาต่อไป หลักสูตรอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้บ่อยเท่าที่มีความจำเป็นของแต่ละสถานศึกษา

1.2.2 การรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี

คือการรายงานผลการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของแผนปฏิบัติการประจำปีมาเป็นกรอบในการทำรายงาน แสดงความก้าวหน้าในการบริหารจัดการในรอบปีต่อกรรมการสถานศึกษาและสาธารณชนได้ทราบ และเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการประจำปีต่อไป

2. การเตรียมคามพร้อมระบบการบริหารจัดการ

โรงเรียนต้องสร้างความตระหนักอย่างสูงต่อคุณภาพที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน กล่าวง่าย ๆ เป้าหมายสูงสุดของการบริหารจัดการคือ "ผู้เรียนมีคุณภาพ" โรงเรียนจึงมีความจำเป็นต้องมีการวางระบบแผนกลยุทธ์และปฏิบัติการประจำปีด้วย "ห้องเรียนคุณภาพ ครูคุณภาพ การบริหารจัดการคุณภาพ และแผนคุณภาพ" เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องและเป็นระบบ ต้องเตรียมความพร้อมอย่างน้อย 2 ด้าน คือ 1) ด้านแผนดำเนินงานและ 2) ด้านหลักสูตร

2.1 ความพร้อมด้านแผนดำเนินงาน

แผนของโรงเรียนควรเตรียมการไว้ 2 อย่าง คือ

2.1.1 แผนพัฒนา(แผนกลยุทธ์)

หมายถึงแผนที่กำหนดแนวทางการดำเนินงานไว้ล่วงหน้าหลายปี อาจเป็น 3 ปี 5 ปี อาจเรียกวาแผนพัฒนา หรือแผนกลยุทธ์ หรือธรรมนูญโรงเรียน โดยอาศัยจากกรอบแนวทางของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักคิดทฤษฎีการบริหารจัดการปัจจุบัน ได้แก่

- การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง 2552-2561 (สามดี สี่ใหม่) แผนพัฒนาการศึกษา แผนกลยุทธ์ของ สพฐ. เป็นต้น

- หลักคิดทฤษฎีการบริหารจัดการ ที่สำคัญ ได้แก่

1) ผู้นำการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง, การสรางแนวคิดใหม่-Paradigm, การบริหารความเสี่ยง-Risk Management, การบริหารโดยใช้สถานศึกษาเป็นฐาน-SBM) เป็นต้น

2) การบริหารจัดการแนวใหม่ (New Public Management-NPM) ที่เน้นความประหยัด ประโยชน์ ประสิทธิภาพ คุณภาพ และความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ การบริหารจัดการองค์กรจึงต้องพร้อมด้วย แผนกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ การจัดองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีเครื่องมือวิธีการที่ทันสมัย บุคลากรคุณภาพที่มีน้อยแต่เชี่ยวชาญทุกด้าน(Multi-skill) เป็นต้น

3) การบริหารระบบธรรมภิบาล (Good Governance) ได้ออกเป็นกฎหมายเพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติราชการของไทยตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา เน้น 6 หลักการบริหารที่ดี คือ 1) หลักนิติธรรม 2) หลักคุณธรรม 3) หลักความโปร่งใส 4) หลักการมีส่วนร่วม 5) หลักความรับผิดชอบและ 6) หลักความคุ้มค่า

แนวทางการจัดทำแผนพัฒนา

มีกรอบแนวทางการ ได้แก่ การวิเคราะห์องค์กร (SWOT Analysis) การกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) กำหนดภารกิจ (Mission) กลยุทธ์ (Strategies) กิจกรรมหรือโครงการ และ งบประมาณช่วง 3-5 ปี เช่น 2553-2555 เป็นต้น เป้นการกำหนดกรอบความต้องการล่วงหน้าเพื่อเป็นลู่ให้กับแผนปฏิบัติการประจำปี

การจดทำแผนพัฒนาจึงเป็นงานใหญ่ที่ต้องการการมีส่วนร่วมสูงจากทุกภาคี

2.1.2 แผนปฏิบัติการประจำปี

หมายถีงการนำเป็นรายปีของแผนพัฒนามากำหนดการปฏิบัตืงานรายปี ในระบบการบริหารโรงเรียนก็จะครอบคลุมทั้งงานบริการวิชาการและงานบริหารทั่วไปด้วย โดยจะต้องนำวิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ต่าง ๆ ของโรงเรียนมากำหนดเป็นรายละเอียดเป็นแผนงานและโครงการอย่างชัดเจน

2.2 การเตรียมความพร้อมหลักสูตรสถานศึกษา

2.2.1 กำหนดเป้าหมาย จุดเน้นของหลักสูตร ที่ขัดเจนเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา

ระดับโรงเรียนมีความจำเป็นต้องกำหนดจุดเน้นของหลักสูตร ให้ชัดเจน ให้เห็นว่าจะทำอย่างไร ให้ผู้เรียนมีคุณภาพให้ผู้ปกครองเห็นซึ่งเป็นวิธีคิดของตนเอง เป็นไปตามบริบทและลักษณะเฉพาะต้ว
การที่โรงเรียนมีจุดเน้นแนวทางเป็นของตนเอง จึงแสดงความเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน (School หมายถึงสำนักเรียนที่มีหลักคิดเฉพาะตน) แสดงความมีศักยภาพ ความหลากหลาย(Diversity)ในวิธีคิด ความเป็นนิติบุคคล และความสอดคล้องในวิถีชีวิตที่ชุมชมที่แตกต่าง
เช่น กรณีของโรงเรียนโทเฮ ของนิวซีแลนด์ กำหนดจุดเน้นผู้เรียนว่า "ต้องอ่านเก่งและ คิดเก่ง" เป็นสำคัญ และมีแนวปฏิบัตคือ จะเรียนภาษาอังกฤษทุกวัน ๆ ละ 45 นาที เพื่อการ "อ่านเก่ง" และเรียนคณิตศาสตร์ทุกวัน ๆ ละ 45 นาทีเช่น เพื่อจะได้เป็นคน "คิดเก่ง" เวลาที่เหลือก็จะบูรณาการโดยใช้ 8 สาระวิชาตามหลักสูตร ภาคบูรณาการจึงมีความสำคัญที่จะใช้กิจกรรมและโครงงานเพื่อพัฒนาตัวเด็ก อาจเป็นการเล่นเกมส์ กีฬา ทำงาน เล่นดนตรี การขับร้อง การเดินทาง เดินป่า ขี่จักรยาน การทัศนศึกษา อยู่ในแผนบูรณาการที่พร้อมจะส่งเสริมความตัวตนของเด็กทั้งสิ้น


แนวทางในการดำเนินการ ได้แก่

1) กำหนดเป้าหมาย หรือจุดเน้นในการจัดการให้เป็นไปตามหลักสูตร โดยการมีส่วนร่วม ชัดเจน กระชับ จำง่ายและเป็นไปได้
2) กำหนดมาตรการ เป็นมิติที่จะนำไปขับเคลื่อน เป็นไปตามลักษณะขององค์การ ได้แก่ (1) ด้านระบบการบริหารจัดการ (2) ด้านการใช้หลักสูตรสู่การจัดการเรียนการสอน(หรือห้องเรียนคุณภาพ) (3) ด้านระบบการนิเทศภายใน (5) การประชาสัมพันธ์ (6) การติดตามและประเมินผล (7) การรายงานผล และ(8) อื่น ๆ ที่จะทำให้เป็นไปตามเป้าหมาย
การกำหนดมาตรการจะเป็นหลักประกันความเสี่ยงต่อการไม่ไปถึงจุดหมาย
3) การขับเคลื่อนทุกมาตรการด้วยวงจรคุณภาพ PDCA
4) กำหนดข้อตกลง (House Rules) แนวปฏิบัติร่วมกันเป็นช้อตกลงเบื้องต้น
5) กำหนดปฏิทินการทำงานตลอดปี

ตัวอย่าง จุดเน้นหลักสูตรของโรงเรียนโทเฮ โรงเรียนขนาดเล็กของนิวซีแลนด์ มีดังนี้

(1) สร้างนิสัยรักการเรียนรู้ (Creating a love for Learning.)

(2) จัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ โดยใช้บริบทที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเด็ก (Active Learning in meaningful contexts)

(3) สนับสนุนให้เด็กประสบความสำเร็จ (Setting children up for Success.)

(4) มีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างชั้นเรียน (Co-operative Learning between classes.)

(5) เรียนรู้เกี่ยวกับการคิดและกระบวนการเรียนรู้ (Learning about thinking and the Learning Process.)
(6) มีทักษะพื้นฐาน หลักสูตรมีความสมดุล นักเรียนมีความเป็นเลิศ (Basics, Balance, Excellence.) (Creating a Put up Zone.)

(7) มีทัศนคติและค่านิยมด้านความภาคภูมิใจ นักเรียนกล้าคิดกล้าทำ มีความมานะอดทน (Attitudes and Values: Aroha, Mana, Pride, Risk-Taking, Perseverance)

(8) ให้คุณค่ากับค่านิยมและการปฏิบัติที่แสดงถึงความขยันขันแข็ง (Valuing intelligent behavior)

(9) มีการคิดไตร่ตรอง สามารถสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของตนได้ (Reflective thinking)

การเตรียมความพร้อมของโรงเรียน จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อที่จะให้การบริหารจัดการศึกษาเป็นไปอย่างเท่าทัน มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการในช่วงปิดเทอมซึ่งเป็นช่วงที่มีความเหมาะสมที่สุด


อ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด : หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ มาตรา 6-7 จัดการศึกษา เพื่อ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เก่ง ...