วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองของไทยกับการมองการจัดการศึกษาในญี่ปุ่น

การปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง :ไม่น่าอายหากจะมองการจัดการศึกษาญี่ปุ่นสักนิด

๑. ความนำ
ผู้เขียนไม่ได้เคยเดินทางไปญี่ปุ่นแต่อยู่กับญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็กจนหลายทศวรรษแล้ว ตั้งแต่ได้ชื่นชอบดาราดังจอมกวนอย่าง โย ชิชิโด ดาราชายรูปหล่อและสวยอย่าง อากิระ โคบายาชิ และ รูริโกะ อาซาโอกะ ดาราหนังที่ตอนเป็นเด็กชอบมาก ต่อมาก็รู้จักกับฮอนด้า ซูซูกิ คาวาซากิ ฮิตาชิ จนปัจจุบันจำไม่หวาดไม่ไหวแล้วมันอยู่รอบตัวเราไปหมด แต่สิ่งที่ไม่อยู่ในความทรงจำเลยก็คือภาษาญี่ปุ่นเพราะไม่เคยคิดอยากเรียนนั่นเอง พบว่าญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าจนน่าตามไปดู และอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางที่ดี

เราเองมีการปฏิรูปการศึกษามาจนครบทศวรรษ (๒๕๔๒-๒๕๕๑) ภายใต้ อุดมการณ์สำคัญของการจัดการศึกษาไทย คือ การจัดให้มีการศึกษาตลอดชีวิตและสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และจะดำเนินตามแนวทางปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง ภายใต้วิสัยทัศน์ว่า “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ” มุ่งไปที่คุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ

คำว่า “คุณภาพ” จึงน่าเป็นประเด็นหลักของระบบตั้งแต่ระดับปฏิบัติขึ้นไป คือ ห้องเรียนคุณภาพ ครูคุณภาพ โรงเรียนคุณภาพ และสำนักงาน(เขตพื้นที่)คุณภาพด้วย หากจะเดินไปข้างหน้าอีกสักสิบปี ดูเพื่อนของเราอย่างญี่ปุ่นบ้างน่าจะได้ประโยชน์ เพราะเป็นเอเชียด้วยกัน เรามักมองวิชาการจากตะวันตกมากเกินกว่าการยอมรับภูมิปัญญามองตะวันออกด้วยกัน

ญี่ปุ่นพัฒนาประเทศคล้ายกับประเทศไทย การปฏิรูปของไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ตรงกับญี่ปุ่นในสมัยเมจิของญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จสู่ยุคใหม่อย่างเต็มภาคภูมิจนมีอิทธิพลเหนือจีนที่แมนจูเรีย ได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองจนพ่ายแพ้ถูกควบคุมจากพันธมิตรโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งทีมเข้ามาดูแลและฟื้นฟูจนเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหนึ่งในเจ็ดในปัจจุบัน ในด้านการศึกษานับว่าประสบความสำเร็จมากเช่นเดียวกัน ทำให้ประเทศตะวันตกต้องหันมาดูและนำไปเป็นแบบอย่าง ได้แก่
- การวิจัยบทเรียน (Lesson Study) และ
- การเรียนรู้แบบเปิด (Open Approach)

ผลการประเมินที่โดดเด่นในระดับนานาชาติที่ประเทศไทยก็เป็นสมาชิกด้วย ๒ รายการ คือ

๑. การประเมินความสามารถทางคณิตศาสตร์ TIMSS (The Trends in International Mathematics and Science Study) เป็นการประเมินทักษะด้านทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ซึ่งญี่ปุ่นมีผลการประเมินความสามารถทางอยู่ในอันดับที่ ๔
๒. การประเมินระดับนานาชาติตามโครงการ PISA ของ OECD มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินว่านักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (เยาวชนอายุ 15 ปี) จะได้รับการเตรียมพร้อมความรู้และทักษะ ที่จำเป็นสำหรับการเป็นประชาชนที่มีคุณภาพในอนาคต และมีส่วนร่วมสร้างสังคมได้หรือไม่ เพียงใด ถือเอาวิชาที่เป็นหัวใจของการพัฒนาสามวิชา คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเพิ่มเติมด้านทักษะที่ต้องใช้ในกระบวนการการเรียนรู้ คือ การแก้ปัญหา ญี่ปุ่นติดอันดับความสามารถทางวิทยาศาสตร์ ๑ ใน ๖ ของประเทศที่มีคะแนนเฉลี่ยสูง

๒. สภาพการจัดการศึกษาของญี่ปุ่นโดยรวม
๒.๑ ระบบการศึกษาในปัจจุบันของญี่ปุ่น

เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นลงไม่นานนัก โดยเด็กทุกคนที่มีอายุระหว่าง ๖-๑๕ ปี จะต้องเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ ๙ ปี คือ ระดับประถม ๖ ปี และมัธยมต้นอีก ๓ ปี นักเรียนที่จบในชั้นมัธยมตอนต้นมีอัตราการเข้าเรียนมัธยมปลายอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น จากร้อยละ ๔๒.๕ เป็นร้อยละ ๘๒.๑ และร้อยละ ๙๔.๒ ในปี ๒๔๙๓, ๒๕๑๓ และ ๒๕๔๓ ตามลำดับ และผู้จบมัธยมศึกษาตอนปลายร้อยละ ๔๗.๗ ได้เข้าเรียนในระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย

๒.๒ การปฏิรูปการศึกษาของญี่ปุ่น
การจัดการศึกษาญี่ปุ่นใช้หลักสูตรรวมกลางเป็นหลัก สังคมญี่ปุ่นมุ่งเน้นอย่างมากในการให้ความสำคัญต่อผู้เรียน ดังนั้น จะมีการแข่งขันการสร้างโรงเรียนให้ได้รับการยอมรับนับถือที่สูงมาก เป็นผลให้ต้องเรียนกวดวิชา (Juku) ในตอนบ่าย ตอนค่ำ วันเสาร์ และวันหยุดเพื่อการสอบเข้า ซึ่งในระบบปัจจุบันทำให้เกิดปัญหาบางอย่าง การแข่งขันทำให้เพิ่มระดับการฆ่าตัวตาย เพิ่มอัตราการออกกลางคันและปัญหาเด็กเสเพล ส่งผลเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปขึ้น

จุดเน้นสำคัญการปฏิรูปการศึกษา ได้แก่
๑. เน้นให้ความสำคัญที่คุณสมบัติเฉพาะบุคคล (Individuality) ซึ่งแตกต่างไปจากระบบเดิมที่เน้นปฏิบัติตามและยึดรูปแบบ เป็นการที่จะมุ่งเน้นที่การสร้างสรรค์และการเขามามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จัดสำหรับเด็กมากขึ้น
๒. เน้นการเรียนรู้แบบยั่งยืน (Life long Learning) เข้ามาเปลี่ยนระบบจากการบันทึกจดจำมาเป็นการเรียนรู้วิธีที่จะเรียนและการยกระดับการคิดที่สูงขึ้น
๓. เน้นการเตรียมนักเรียนเพื่อการวางแผนและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและได้รับสำเร็จในโลกยุคสารสนเทศและในชุมชนโลก กำหนดให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้านการเมืองเพื่อให้ทักษะการเปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ ช่วยให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และค่านิยมต่างๆ

ความมุ่งหวังผลของการปฏิรูปให้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ คือ
๑. ลดเวลาเรียนของสัปดาห์เป็น ๕ วันในทุกโรงเรียนในปี ๒๕๔๕
๒. จัดส่งเสริมแก่ผู้เรียนที่มีพรสวรรค์ และผู้มีความสามารถพิเศษ (gifted and talented)
๓. เพิ่มจำนวนที่ครูปรึกษาแบบเต็มเวลาในโรงเรียน
๔. จัดให้มีการเรียนรู้ที่บ้านให้มากขึ้น

๓. กรณีตัวอย่าง การบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียนญี่ปุ่น ๓ แห่ง : ความต่างที่ไม่ทิ้งความเหมือน
๑. การศึกษาระดับประถมศึกษา : กรณีโรงเรียนฮิกาชิ (Hamamatsu City Higashi Elementary School)
โรงเรียนฮิกาชิ อยู่ในจังหวัดฮามามาสึ มีนักเรียน ๑๙๑ คนจัดการเรียนการสอนในระดับ ๑-๖ (ป.๑-๖) โดยระดับปฐมวัย (Kindergarten) ไม่เป็นการศึกษาภาคบังคับ ดังนั้น เด็กปฐมวัยจึงต้องไปโรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาปฐมวัยระยะเวลา ๑-๓ ปี
โรงเรียนแห่งนี้ เริ่มด้วยทุกคนจะเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปโรงเรียนด้วยกัน ทุกคนใส่หมวกนิรภัย เมื่อถึงโรงเรียนจะถอดรองเท้า หมวกนิรภัย และเป้สะพายหลังไว้ในชั้นของตนที่หน้าโรงเรียน แล้วใส่รองเท้าแตะเข้าชั้นเรียน

นักเรียนจะได้ฝึกทักษะการเขียนอักษรคันจิ (Kanji) โดยทุกคนจะมีพู่กันและหมึกของตนเอง โรงเรียนนี้มีนักเรียนชั้น ป.๑ จำนวน ๔๐ คน จะเรียนรู้ฝึกทักษะการอ่านและอ่านเสียงดัง พร้อมกับทำกิจกรรม นักเรียนจะแสดงความขอบคุณครูและโค้งคำนับครูเมื่อชั่วโมงสอนสิ้นสุดลง

ตอนเที่ยง นักเรียนทั้งหมดจะรับประทานอาหารเที่ยงในห้องเรียน โดยรับอาหารมาจากโรงอาหารมาแจกจ่าย มีการสวมหน้ากากป้องกันการติดเชื้อโรคขณะแจกจ่ายอาหารซึ่งเวลาอาหารเที่ยงจะใช้เวลา ๑ ชั่วโมง หลังอาหารเที่ยงทุกคนจะร่วมกันทำความสะอาดโรงเรียน กวาดพื้นและปัดฝุ่น ทำความสะอาดอ่างซักล้าง และขัดพื้น

การเรียนดนตรีมีความสำคัญของแต่ละวัน ได้เรียนรู้การใช้เครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ ในระดับชั้นที่ ๓ (ป.๓) จะได้เรียนการเล่นเครื่องดนตรีเหล่านั้น โดยไม่ได้ใช้ครูดนตรีพิเศษมาสอน

นักเรียนจะได้เข้าแถวกิจกรรมร่วมกัน ครูและนักเรียนทุกคนจะต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายในกิจกรรมกลางแจ้ง สีหมวกแสดงกลุ่มระดับของนักเรียน ระดับชั้นที่ ๑ (ป.๑) จะใส่หมวกสีเดียวกัน นักเรียนรุ่นพี่จะเป็นผู้นำการออกกำลังกายกลางแจ้งโดยตลอด แล้วนักเรียนจะวิ่งไปตามลู่สนามโรงเรียน

๒. การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น : กรณีโรงเรียนนันโยะ (Hamamatsu City Nanyo Junior High School)
โรงเรียนนันโยะ มีนักเรียน ๕๓๑ คน ครู ๒๙ คน และบุคลากรอื่น ๘ คน จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในระดับ ๗, ๘ และ ๙ (มัธยม ๑ - ๓) เป็นการศึกษาภาคบังคับญี่ปุ่นซึ่งมีไปจนถึงระดับ ๙ เท่านั้น
นักเรียนทุกคนเดินหรือขี่จักรยาน (Bike)ไปโรงเรียน โรงเรียนนี้ไม่มีรถโรงเรียน เมื่อถึงโรงเรียนต้องถอดรองเท้าเก็บไว้ในชั้นที่จัดไว้ด้านหน้าโรงเรียนแล้วใส่รองเท้าแตะ และต้องมีรองเท้าแตะพิเศษเพื่อเข้าใช้ห้องน้ำ

จุดเน้นหลักของโรงเรียน ที่นักเรียนต้องเรียนรู้ คือ
นักเรียนระดับชั้นที่ ๗ (7th grade students) มุ่งเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
นักเรียนระดับชั้นที่ ๘ (8th grade students) มุ่งเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและสวัสดิการต่าง ๆ
นักเรียนระดับชั้นที่ ๙ (9th grade students) มุ่งเรียนรู้เกี่ยวกับสาระระหว่างประเทศและเน้นความเข้าใจในสังคมโลก (Global Understanding)

นักเรียนจะรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกันในชั้นเรียน โรงอาหารจะทำกับข้าวไว้จำนวนมากเพื่อเพียงพอกับจำนวนนักเรียน นักเรียนจะไปรับอาหารและสวมหน้ากากขณะที่ตักอาหารแจกจ่ายป้องกันการแพร่เชื้อ ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง สำหรับอาหารเที่ยง ในแต่ละวันจะมีช่วงเวลาเพื่อให้นักเรียนทำความสะอาดโรงเรียน
นักเรียนส่วนใหญ่จะเข้าร่วมกิจกรรมท้ายวันตามชมรมต่าง ๆ ของโรงเรียน เช่น ดนตรี กีฬายูโด มวยปล้ำ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
๓. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย : กรณีโรงเรียนชิโซอุกะ (Shizouka Prefectural Hamamatsu Kita High School)
มัธยมศึกษาตอนปลายไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับของญี่ปุ่น ทุกคนที่เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต้องจ่ายค่าเล่าเรียน ที่โรงเรียนชิโซอุกะ นักเรียนจะเดินหรือขี่จักรยานไปโรงเรียน ไม่มีรถโรงเรียน มีการถอดเก็บรองเท้าที่เป็นระเบียบในชั้นที่ทางโรงเรียนเตรียมไว้ให้ ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจะมีรองเท้าแตะแบบเดียวกัน แต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะมีรองเท้าแตะหลายแบบ

การเรียนภาษาต่างประเทศเป็นภาษาอังกฤษถือว่ามีความสำคัญมาก นักเรียนโรงเรียนนี้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก สามารถให้ความรู้เกี่ยวกับโรงเรียนและวัฒนธรรมของตนได้เป็นอย่างดี ในสัปดาห์แรกโรงเรียนจะมีการจัดกิจกรรมค่ายรวมเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนักเรียนด้วยกัน นักเรียนได้เรียนใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างเว็บเพจ และฝึกเขียนโค้ดภาษาเว็บเพจ
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะยังคงมุ่งการฝึกทักษะการเขียนอักษรคันจิ (Kanji) ของญี่ปุ่น โดยแต่ละคนจะมีพู่กัน ตลับหมึก ผ้าขนสัตว์ของตน

นักเรียนญี่ปุ่นรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกันในห้องเรียนโฮมรูม ที่โรงเรียนชิโซอุกะไม่มีร้านค้าจำหน่ายอาหารและไม่อนุญาตให้นักเรียนออกจากโรงเรียนเพื่อหาอาหารเที่ยง ดังนั้น นักเรียนจึงต้องนำอาหารมาจากบ้านและสนุกสนานกับการรับประทานอาหารร่วมกัน ในแต่ละวันจะมีชั่วโมงการทำความสะอาด โดยจะถูพื้น ขจัดฝุ่น ดูดฝุ่น ทำความสะอาดกระดานดำ และทำความสะอาดห้องอาบน้ำ ส่วนในตอนสุดท้ายทุกวันนักเรียนจะร่วมชมรมต่าง ๆ มากมายได้แก่ การวาดภาพ กีฬาเทเบิลเทนนิส ยูโด เป็นต้น

๔. วิพากย์ โรงเรียนสามระดับ ที่มีความต่างที่ยึดความเหมือน อย่างน้อยจะพบประเด็นต่อไปนี้
๑. ใช้การเดินหรือจักรยานสองล้อไปโรงเรียนเป็นหลัก
โดยไม่มีรถโรงเรียน แสดงต้องเป็นนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่บริการทั้งหมด หรือที่เรามักเรียกว่า School Mapping ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงระดับมัธยมปลาย การเดินวิธีการที่ดีในการฝึกความรับผิดชอบ อดทน เอื้อเฟื้อ ความร่วมมือ การเฝ้าระวังความปลอดภัย ด้วยการเดินไปโรงเรียนพร้อมกัน พร้อมใส่หมวกนิรภัย เน้นที่การเดินและรวมกันเป็นเพื่อน เป็นการฝึกทักษะชีวิต และเป็นการลดการใช้รถยนต์ซึ่งมีปัญหามากในประเทศของเรา

๒. การสร้างและปลูกฝังลักษณะนิสัยต่าง ๆ ได้แก่
ความรักสามัคคีในหมู่คณะ ด้วยการรับประทานอาหารเที่ยงในชั้นร่วมกัน (เด็กไทยจะถูกห้าม) เป็นการสร้างและควบคุมระดับความสัมพันธ์ของชั้นทุกวัน
การรักความสะอาด มีการเปลี่ยนรองเท้าเป็นรองเท้าแตะทำให้เหมือนกันและไม่ต้องเดินด้วยถุงเท้าในโรงเรียน การใส่หน้ากากอนามัยเมื่อแจกจ่ายอาหาร (กรณีที่รับอาหารมาจากโรงครัวของชั้นประถมและมัธยมต้น)




การร่วมกันเช็ดถูทำความสะอาดโรงเรียนห้องเรียนทุกวัน หลังอาหารมีการควบคุมรักษาความสะอาดทั้งโรงเรียนและการแพร่เชื้อ

การสร้างวินัยอยู่ในกฎระเบียบ ด้วยการเปลี่ยนรองเท้า การนำอาหารมาเอง การใส่หมวกสีตามชั้น
๓. การเตรียมเด็กให้มีที่ยืนในระดับสากลและอนาคต

ด้วยการสร้างจุดเน้นการเรียนการสอนแต่ละระดับชัดเจนมีความต่างในสาระและจำเป็นต่อการนำไปใช้มีจุดเน้นที่ต่างกัน แต่ยังคงรักษารากเหง้าวัฒนธรรมทางภาษาทุกระดับชั้น มีกิจกรรมรองรับเพื่อสนองความเป็นตัวตนของนักเรียนอย่างหลากหลาย ได้แก่ การฝึกทักษะศิลปะ ดนตรี กีฬา
และการเข้าร่วมกิจกรรมชมรมที่โรงเรียนจัดให้ท้ายวันเรียนทุกวันเพื่อพัฒนาการของสมองซีกขวาที่เน้นความสุนทรีย์และสร้างสรรค์
๔. ระบบบริหารจัดการ
แสดงให้เห็นความเป็นเอกภาพในการส่งผ่านนโยบายของจังหวัด แม้ว่ามีการจัดการศึกษาต่างระดับกันแต่มีทิศทางการทำงานแบบเดัยวกัน ในด้านเขตบริการ วิธีการมาเรียน กฎระเบียบโรงเรียน และกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

๕. บทสรุป
การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองย่างเข้ามาแล้ว ก็ดูเหมือนว่าทางฝ่ายบริหารระดับสูงกำลังส่งนโยบายสามดีสี่ใหม่ดูแล้วเป็นลู่ที่รูปธรรม หากผู้บริหารโรงเรียนได้ศึกษากรณีตัวอย่างจากที่ต่าง ๆ ซึ่งอินเตอร์เน็ตก็เป็นช่องทางที่ง่ายกว่าการไปดูงานที่ลงทุนสูงและต้องมีการวางแผนที่ดี หลายประเทศทั้งจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ที่โดดเด่นต่างก็เป็นประเทศเอเชีย แล้วมากำหนดรายละเอียดจะวางแผนเชิงรุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้หลักสูตรแบบบูรณาการในระดับประถมศึกษาเกิดคุณภาพ อย่างกรณี โรงเรียนโทเฮ ของนิวซีแลนด์ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ก่อนก็ไม่ใช่ผู้บริหารระดับสูงแน่นอน หากแต่เป็นนักเรียนที่เราดูแลอยู่นั่นเอง เป้าหมายสูงสุด (Ultimate Goals) ของกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนที่ว่า “ผู้เรียนมีคุณภาพ” คงชัดเจนขึ้น

อ้างอิง
1. “The Programme for International Student Assessment (PISA)” http://www.pisa.oecd.org/dataoecd/15/13/39725224.pdf
2. “โครงการประเมินนักเรียนนานาชาติ” โดย สถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.http://www.ipst.ac.th/pisa/index.html
3. Educational Administration in Japan and the Role of Local Governments. By Nagaki KOYAMA. Associate Professor. Graduate School of Library, Information and Media Studies. University of Tsukuba
4. “Japanese Educational Reform” http://www.amphi.com/~psteffen/fmf/reform.html
5. “Hamamatsu City Higashi Elementary School” http://www.amphi.com/~psteffen/fmf/elementary.html
6. “Hamamatsu City Nanyo Junior High School” http://www.amphi.com/~psteffen/fmf/juniorhigh.html
7. “Shizouka Prefectural Hamamatsu Kita High School” http://www.amphi.com/~psteffen/fmf/highschool.html

2 ความคิดเห็น:

ศน.ปลาทอง กล่าวว่า...

แวะเข้ามาอ่านการจัดการศึกษาในญี่ปุ่นคะ...อ่านแล้วรู้สึกอิจฉาคนญี่ปุ่นจังเลยนะคะ อยากให้เมืองไทยจัดการศึกษาแบบนี้บ้างจัง ...ท่านรองฯวิบูลย์ค่ะถ้าว่างแวะเข้าไปดูบรรยากาศงานเลี้ยงเกษียณฯที่สวนอาหารเศวตกมลได้เลยนะคะตอนนี้หนูนำมาลงใน blog แล้วค่ะ
ป.ล.หนูโหวตให้ท่านรองฯเป็นbloggerในดวงใจด้วยนะคะ อ่านดูจาก entry แรกที่เขียนเลยคะ
www.goldfish191.blogspot.com

noppakid p กล่าวว่า...

ผมว่าก็เข้าท่าดีนะจารย์ไทยเราเทียบเขาไม่ติดเลยเพราะระดับประถมนี่ต้องงี้เลยเพราะถ้าเีิ่ริ่มต้นดีปลายก็ดีครับผมอยากให้ไทยเราเอาอย่างเขาบ้างประยุกต์ซักเล็กน้อยก็ยังดีนะครับผมว่า

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด : หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ มาตรา 6-7 จัดการศึกษา เพื่อ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เก่ง ...