วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553
ท่านจะทำอย่างไรเมื่อลูกน้องทะเลาะกันขั้นรุนแรง
ท่านจะทำอย่างไรเมื่อลูกน้องทะเลาะกันขั้นรุนแรง
กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักบริหารในระบบราชการทั้งในสำนักงานและโรงเรียน เพราะการบริหารจัดการใด ๆ ก็ตาม ปัจจัยที่มีปัญหามากที่สุดของ 4Ms (Man Money Material & Management) คือ “คน” เพราะคนเป็นผู้มีชีวิตจิตใจและเป็นผู้ใช้ปัจจัยอื่น ใช้ไม่ได้ก็เกลียด ใช้ไม่ดีก็โกรธ โดยทั่วไปแล้วองค์กรใหญ่ หรือสำนักงานที่มีคนจำนวนมากจะบริหารจัดงานได้ง่ายกว่าหน่วยงานที่มีคนน้อย เพราะสามารถที่จะสร้างปทัสถานทางสังคม (Norms) ได้ง่ายกว่า เช่น การกำหนดเวลาเริ่มงาน การแต่งกาย ตลอดการรักษากฎระเบียบ มักจะปฏิบัติงานตามกันได้ดีกว่าสำนักงานที่มีคนน้อย ยิ่งน้อยยิ่งลำบาก กล่าวว่ามีคน ๕ คนก็เท่ากับมีคน ๕๐๐ จำพวก น่าลำบากใจในการทำงานราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนที่มีครูเพียงไม่กี่คน เพราะหยิกเล็กก็เจ็บเนื้อ ยิ่งองค์กรใดก็ตามที่คนมีการทะเลาะเบาะแว้งขาดความสามัคคีด้วยแล้วก็จะเหมือนเกิดมะเร็งร้ายในองค์กรเลยทีเดียว
ความขัดแย้ง (Conflict) โดยสากลจะหมายถึงการมีความเห็นต่าง ถือเป็นเรื่องที่ดีควรให้เกิดเสียด้วย อาจมีความเห็นต่างได้ในหลายแง่ มักเกิดในที่ประชุมที่มีประธานและสามารถยุติได้ในวาระ แต่การทะเลาะ (Quarrel) ในเชิงวิวาทโต้เถียงกันที่ไม่ได้เกิดจากองค์ประชุม แต่มีการตั้งป้อมเอาชนะคะคานด้วยคารมกันโดยไม่มีประธานนี่สิน่าห่วง ผู้อยู่รอบข้างก็มักจะเลือกเป็นผู้ชมไม่อยากเป็นเสือสวมเกือกเอาตัวรอดไว้ก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเบอร์หนึ่ง เพราะหากเกิดในองค์กร หากมีอาการชัดเจนก็เท่ากับเป็นอาการประท้วงของทีมงามที่ต้องแก้ไขให้หายไป (Eliminate) โดยพลัน ไม่อาจลอยตัวอยู่เหนือปัญหาได้
ผู้ที่จะเห็นสัญญาณได้ดีที่สุดและปัดความรับผิดชอบไม่ได้คือ ผู้นำองค์กรตั้งแต่ระดับต้นจนถึงระดับเหนือขึ้นไป แม้บางครั้งอาจไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นชัดนักก็อาจจับจากอากัปกิริยาได้ว่ามีความขัดแย้ง การนินทาว่าร้ายไม่โต้ตอบกันก็ไม่น่าจะหนักใจอะไร แต่ที่ถือว่ารุนแรง ก็คือการพูดด่าว่ากันด้วยถ้อยคำที่รุนแรง แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด หรือหยาบคาย แล้วยกระดับไปถึงขั้นลงไม้ลงมือ หรือไม่ก็ถึงขั้นฟ้องร้องเอาความ นี่แหละเป็นระดับการทำลายองค์กรที่น่าห่วงมาก เพราะการไม่แก้ไขตามระดับของอาการก็เท่ากับเป็นการเพาะเชื้อร้ายเอาไว้รักษาไม่หาย โดยมีบางระดับเท่านั้นที่แก้โดยพลันก็หายไป
กรณีตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๔๕ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็มีความสุขกันดีเรียกได้ว่า ชนะทั้งคู่ (win-win solution) คงจะไม่ว่าอะไรหากจะนำมาเล่าเพื่อเป็นข้อคิดให้ต่อยอดในการแก้ปัญหาต่อไป
เมื่อคราวที่ผู้เขียนปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการอำเภอแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนชั้นสองของที่ว่าการอำเภอ โดยชั้นบนเป็นมุขยื่นออกมาและเป็นห้องประชุมเล็กและห้องของนายอำเภอที่พบเห็นอยู่ทั่วไป ด้านปีกขวาจะเป็นที่ทำงานของศึกษาธิการอำเภอและสัสดีอำเภอและสำนักงานปศุสัตว์อยู่รวมกันซึ่งเรามักจะมีภารกิจร่วมกันภาคสนามบ่อย ๆ สำนักงานมีเจ้าหน้าที่ไม่มากนัก เพียง ๗ คน สำนักงานเป็นหน่วยงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องประสานและกำกับนโยบายของกระทรวงในระดับอำเภอ การทำงานรับมือกับทุกกรมกองที่ส่งมาและต้องรวดเร็วเบ็ดเสร็จ ต้องทำงานหนักหลายภารกิจในเวลาเดียวกันให้ได้ คนของศึกษาธิการอำเภอจึงต้องทำงานอย่างน่าเวียนหัวเพราะเป็นตัวแทนของ ๑๔ กรมในสมัยนั้น ต้องจับงานพร้อมกันหลายหน้าภายใต้บุคลากรที่จำกัด เจ้าหน้าที่ใหม่ก็อาจเครียดบ้างแต่นานเข้าก็มีทักษะ
เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากงานที่ทำ แต่มาจากความเป็นตัวตนซึ่งฝรั่งเรียกว่า “อีโก้” ที่ผู้เขียนพอจะรู้ถึงความบาดหมางของลูกน้องอยู่บ้าง ระหว่างเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ชื่อ ปนัดดา เธอเป็นคนสวย และมีรสนิยมความสวยเริดประเสริฐศรีพอสมควร และเธอก็ทำหน้าที่เป็นเลขาผู้แทนราษฎรอีกด้วย มีความรับผิดชอบสูง เรียนรู้และทำงานได้รวดเร็ว มีรถเก็งขับมาทำงาน และอีกคนชื่อ วารุณี ที่ย้ายเข้ามาภายหลัง เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี โดยสถานภาพก็เป็นภรรยาผู้บังคับกองร้อย ตชด.ในพื้นที่ คนทั่วไปเรียกว่า “คุณนาย” ทำงานร่วมกันมาประมาณ ๔ ปีก็เห็นความสนิทสนมกลมเกลียวกันดี มีความสุขกันดี แต่ระยะหลังมามีอาการค่อนแคะกันบ้าง ฟังได้จากน้ำเสียง และกิริยาท่าทางก็พอจะเห็นเค้าลางก็ได้แต่เก็บและรับความเคลื่อนไหวเอาไว้คิดว่าไม่น่าจะมีความรุนแรง ผู้เขียนจะไม่ถามบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ข้างเคียง ที่อาจจะเคยเห็นทั้งคู่มีปากเสียงกันตอนที่เราไม่อยู่ ซึ่งทุกคนก็คงจะอึดอัดใจและอยากจะบอก
ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ขณะที่ผู้เขียนนั่งปฏิบัติงานที่โต๊ะทำงานริมสุดของหอง ที่ธรณีประตูทางเข้าตรงประตูห้องประชุมเล็กนายอำเภอก็ได้ยินเสียงมาแต่ไกลที่น่าตกใจจากคุณปนัดดาผู้พี่ ด้วยเสียงอันดังฟังชัดว่า “มึงจะเอาอะไรกับกู” พร้อมกับมือชี้มาที่คุณวารุณีผู้น้องซึ่งเธอเองก็เหมือนอยู่ในอาการช็อค นั่งนิ่ง ไม่โต้ตอบ ทุกคนในสำนักงานก็นิ่งตะลึงงันเช่นเดียวกันรวมทั้งเจ้าหน้าที่ในห้องสัสดีอำเภอ ไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์อย่างนี้ ทุกคนเงียบหมด ผู้เขียนเองก็งง สมองก็เริ่มมึนกับการประมวลผลว่าจะแก้สถานการณ์นี้อย่างไรดี ดีที่ผู้พี่ใช้เพียงประโยคเดียวแล้วก็เดินมีที่โต๊ะทำงานด้านหน้าสุดของผู้เขียนด้วยอาการบึ้งตึง ไม่พูดอะไรอีก และรู้ว่าผู้เขียนก็อยู่ด้วย
ทันทีที่หายมึนงง ก็ตัดสินใจว่าจะต้องเจรจากับทั้งสองคน ก็ได้ลุกจากที่นั่งไปเรียกทั้งสองว่าขอพบที่ห้องนายอำเภอ ขอให้เลขาหน้าห้องเปิดห้องนายอำเภอซึ่งทราบแล้วว่า ขณะนั้นนายอำเภอออกไปนอกที่ตั้ง ได้ไปนั่งรออยู่ก่อนประมาณ ๑ นาทีทั้งสองก็เข้าไป
ผู้เขียนให้ทั่งคู่นั่งเคียงกันที่ชุดรับแขกไม้มะค่าตัวใหญ่ ส่วนผู้เขียนนั่งเก้าอี้ของผู้ที่มาพบนายอำเภอตรงหน้าทั้งคู่โดยมีโต๊ะวางของสำหรับรับแขกคั่นอยู่ ผมปล่อยให้เวลาผ่านไปประมาณ ๑ นาที เพื่อที่จะประมวลวิธีคิดและพูดไปด้วย จึงเริ่มพูดเพียงคนเดียวด้วยน้ำเสียงที่เรียบและเบาแต่ชัดเจน ขณะที่ตาก็จะมองตรงไปยังทั้งคู่ตลอดเวลา ว่า “รู้สึกตกใจ และมึนงงต่อสิ่งที่ได้เห็น คนอื่นก็คงคิดเหมือนกัน ตกใจว่าทั้งสองที่ถืออยู่ตลอดเวลาว่าเป็นน้องสาว ซึ่งพร้อมทั้งวุฒิภาวะ ฐานะ และสดสวยจะมีความบาดหมางทะเลาะกันต่อหน้าธารกำนัลได้อย่างนี้ รู้สึกเสียใจมาก ขอบคุณที่น้องไม่โต้ตอบ แสดงว่าทั้งสองมีเรื่องคาใจกันอยู่ แต่ก็ไม่อยากให้มีเหตุการณ์อย่างนี้อีก ผู้พี่เห็นด้วยไหม (คุณปนัดดา พยักหน้ารับแสดงว่าเห็นด้วย พร้อมสีหน้าที่เรียบเฉย) แล้วผู้น้องล่ะ (วารุณี ก็พยักหน้าด้วยอาการเดียวกัน)
เมื่อทั้งสองเห็นด้วย (ผู้เขียนสั่งและยื่นหงายมือซ้ายออกไปก่อน) ผู้พี่หงายมือซ้ายมาทับ (คุณปนัดดาก็ทำตาม) ผู้น้องหงายมือซ้ายมาทับ (คุณวารุณี ก็ทำตาม) ผู้พี่เอามือขวามาประกบ และผู้น้องเอามือขาวมาประกบ (แล้วผู้เขียนก็เอามือขวาประกบกุมมือเอาไว้แล้ว กล่าวต่อ)...ที่นี่เป็นห้องนายอำเภอ เป็นห้องทีมีเกียรติ มีพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ค้อมครอง และเป็นที่รโหฐาน สิ่งที่พูดขณะนี้มีเพียงเราซึ่งเป็นคู่กรณีเท่านั้น เรื่องที่คาใจอยู่ก็แล้วกันไป ให้อภัยกันและกัน ได้ใช้ไหม (ทั้งคู่พยักหน้าตอบ ดูท่าทางยังงงอยู่ เห็นแววตาแสดงความพอใจ) จากนี้ให้คุยกัน ตกลงกันเองขออภัยกันและกัน นานเท่าที่จะพอใจ หวังว่าจะเห็นความรักของพี่และน้องเป็นไปอย่างเดิม ให้ตกลงตามนี้”
ผู้เขียนปล่อยมือออกในขณะที่มือของพี่และน้องยังจับกันอยู่ ใช้เวลาประมาณ ๕ นาที ออกจากห้องนายอำเภอ และไม่ได้กลับมาสำนักงานอีก จนวันใหม่ผู้เขียนก็ทำทีไปราชการพื้นที่ เข้ามาตอนบ่ายก็เห็นว่าทั้งสองก็ทำงานด้วยกันปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นึกว่าอย่างไรเสียเธอทั้งสองคงจะเกรงใจเราจึงแกล้งทำ แต่เวลาผ่านนับเดือนและปีหลังจากนั้นมาก็เห็นว่าทั้งคู่ทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข จนกระทั่งถึงคราวที่สำนักงานถูกยุบต้องแยกทางกันไปผู้พี่ไปอยู่สำนักงานวัฒนธรรม ผู้น้องได้ไปเป็นครูปฏิบัติงานในโรงเรียน ผู้เขียนก็ไปปฏิบัติงานนำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดเดียวกัน ก็ยังเห็นความห่วงใยและผูกพันกันอย่างดีเหมือนเดิม
หากจะให้ผู้เขียนวิเคราะห์ปัจจัยที่ขจัดความขัดแย้งขั้นทะเลาะกันดังกล่าวนี้มีประเด็นหลัก ดังนี้
๑. การแก้ปัญหาโดยพลันของผู้นำ ไม่ปล่อยให้ร้าวฉานยาวนานจนกลายเป็นมะเร็วร้ายขององค์กร
๒. การใช้ที่รโหฐานในการเจรจาแก้ปัญหา เป็นการปิดกั้นมิให้คนอื่นที่ไม่ใช่คู่กรณีเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เกิดการประจันหน้า และการประจานต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งไม่เหมาะสมกับบุคลากรที่ถือว่าทุกคนก็มีศักดิ์ศรีและมีเกียรติกันทุกคน จะสามารถสนทนากันได้โดยเปิดอกที่ไม่มีใครรู้ เป็นสัญญาใจซึ่งกันและกัน
๓. การได้มีโอกาสการสัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมตะวันตกที่ใช้การโอบกอดแสดงความรัก กอดพี่ กอดน้อง แต่ผู้เขียนคิดว่าไม่ใช่ธรรมเนียมไทยและจะใช้แบบสามเส้าก็ไม่ได้ ก็ใช้วิธีสัมผัสมือน่าจะใช้ได้ มือ ตาและกายบางส่วน(เว้นแต่เท้า) ถือว่าเป็นหน้าต่างแทนใจที่สำคัญ
ผู้เขียนปฏิบัติงานในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ต่อมาพบว่า มีเรื่องการทะเลาะและขัดแย้งในหน่วยงานและโรงเรียนให้เห็นบ่อย แต่มักพบว่าผู้บริหารมักจะปัดความรับผิดชอบออกจากตนเอง ส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปก็จะไม่เหมาะสม หรือไม่ก็เบอร์หนึ่งขององค์กรนั่นแหละทะเลาะกับลูกน้องเสียเอง ซึ่งไม่ควรทำ
การเสนอกรณีการทะเลาะกันขั้นรุนแรง เพียงเพื่อให้เห็นว่า วิธีการใช้ได้กับกรณีที่เกิดขึ้น อาจเป็นแนวทางช่วยพัฒนาทักษะการบริหารจัดการซึ่งเบอร์หนึ่งเท่านั้นจะเป็นผู้จัดการ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด
สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด : หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ มาตรา 6-7 จัดการศึกษา เพื่อ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เก่ง ...
-
การลำ เป็นศิลปะการร้องทำนองเพลงเก่าแก่ของชาวอีสาน เป็นการร้องทีมีเนื้อหาและทำนองเป็นเอกลักษณ์ มีแบบแผนน่าสนใจ มีแคนเป็นเครื่องดนตรีคู่กันม...
-
ปี่เซี๊ยะ เป็นยอดเครื่องรางที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้พญามังกร และมีพลังแรงกว่าสิงโตคู่ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์ของจีน ใครมีไว้บูชาจะทำให้มีแต่โชคลาภ ทร...
-
สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด : หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ มาตรา 6-7 จัดการศึกษา เพื่อ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เก่ง ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น