วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ถุงเท้านักเรียน : โรงเรียนกำลังเพิ่มรายจ่ายกับผู้ปกครองโดยไม่จำเป็นหรือไม่

นักเรียนไทย ต้องแต่งกายตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ เสื้อผ้า เข็มขัด ถุงเท้า และรองเท้า ทุกชิ้นถือเป็นเครื่องแบบ ต้องแต่งให้ถูกระเบียบในเวลาเรียน ส่วนมากจะพบว่าถึงเวลาเข้าชั้นเรียนต้องถอดรองเท้าเรียงรายไว้หน้าห้อง เหลือแต่ถุงเท้า นักเรียนหญิงเป็นถุงสีขาว ชายมักเป็นสีน้ำตาล แล้วแต่สถานศึกษาและระดับชั้น นายชงค์ วงศ์ขันธ์ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการเคยกล่าวอย่างมีอารมณ์ขันเมื่อปี ๒๕๓๐ ที่หาดบางเบน จังหวัดระนองนานมาแล้วว่า “เราสอนให้นักเรียนเป็นลิเก” ฟังแล้วงง ท่านได้อธิบายต่อเพื่อคลายความสงสัยว่า เวลาลิเกออกแสดงหน้าเวทีนั้นจะสวมแต่ถุงเท้า เหมือนนักเรียนของเรา ฟังแล้วยังติดหูมาจนทุกวันนี้

ผู้เขียนก็อยากจะบอกว่า “ถุงเท้าอย่าเรียกว่าถุงเท้า ให้เรียกผ้าถูโรงเรียน” ถุงเท้านักเรียนส่วนใหญ่นั้นสกปรก อาจจะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะนักเรียนชายที่ใส่กับรองเท้าผ้าใบ บางคนจะเหยียบพับส้นรองเท้าไม่ดึงขึ้นหุ้มส้นเพราะต้องถอดตอนเข้าชั้น หรือเข้าพบครูที่มักเขียนปิดหน้าห้องเสมอว่า “ถอดรองเท้า” จนรองเท้าที่เหยียบส้นจนเป็นรอยพับถาวรไปเลย ที่สำคัญที่เป็นจนชินตาคือส้นและปลายถุงเท้าทั้งชายหญิงจะขาดเป็นรูเห็นหัวแม่เท้าและส้นเท้า ผู้ปกครองที่พอมีเงินก็ต้องสิ้นเปลืองเงินซื้อถุงเท้าแต่ผู้ไม่มีเงินก็ต้องปล่อยให้มันขาดอยู่อย่างนั้น หากจะนำมาวิเคราะห์จะพบว่าค่าถุงเท้ามากกว่าค่ารองเท้าเสียอีก กระทบกับรายจ่ายของผู้ปกครองที่มีความจนเป็นทุนอยู่แล้ว
วัฒนธรรมหารถอดรองเท้านี้ ถือได้ว่าเป็นของตะวันออก พบในญี่ปุ่น ที่สำคัญคือวัฒนธรรมชาวพุทธที่ต้องถอดรองเท้าที่แสดงว่าเราไม่ยืนสูงกว่าพระเวลาใส่บาตร เข้าโบสถ์วิหาร และปูชนียสถานต่าง ๆ แสดงความเคารพต่อสถานที่ พระสงฆ์ก็จะเป็นผู้นำจนกลายเป็นธรรมเนียมที่คนไทยปฏิบัติเพราะถูกกล่อมเกลามาช้านาน แต่มีจุดต่างที่เห็นอยู่คือ พระท่านไม่ได้ใส่ถุงเท้า
ผู้บริหารโรงเรียนน่าจะได้ว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ไม่ควรถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไร้สาระ ถ้าจะให้นักเรียนใส่รองเท้าเข้าไปเหมือนในยุโรป จะต้องมีวิธีการกำจัดความสกปรกของรองเท้าอย่างเป็นระบบ และเหมือนกันทั้งโรงเรียน หากไม่แล้วจะเป็นภาระให้กับนักการภารโรงมาก

หากจะใช้วิธีถอดรองเท้าเข้าชั้นเรียน ควรคิดระบบประกันความเสี่ยงเรื่องของถุงเท้าไว้อย่างรอบคอบเพื่อให้บรรยากาศในชั้นเรียนเป็นไปตามธรรมชาติ ได้แก่ ความสกปรก ขาด หรือมีกลิ่นเหม็น จำเป็นต้องมีวิธีคิดเพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยง เช่น การใช้รองเท้าแตะเข้าชั้นเรียนเหมือนเด็กญี่ปุ่นในบทความเรื่อง “ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองกับการมองการปฏิรูปการศึกษาญี่ปุ่น” ที่เสนอไปแล้ว โดยโรงเรียนเตรียมรองเท้าแตะไว้ให้นักเรียนเปลี่ยนเมื่อถึงโรงเรียน จะมีรองเท่าสวยอย่างไรก็ต้องเปลี่ยนเป็นแบบที่โรงเรียนจัดให้ เพื่อควบคุมความสะอาดและรักษาถุงเท้าที่ต้องสวมใส่อยู่

ในวัดพุทธโดยทั่วไป จะพบว่าท่านก็มีวิธีการรักษาความสะอาดด้วยการก่อซีเมนต์เป็นสี่เหลี่ยมใส่น้ำแล้วมีที่เหยียบล้างตรงกลางก่อนขึ้นศาลา มีผ้าหยาบให้เช็ดอีกครั้งก็สะอาดตามสมควรแล้ว แต่กับนักเรียนแล้วอาจใช้วิธีการกำหนดรูปแบบ เช่น มีที่เคาะรองเท้าทำจากขุยมะพร้าวที่มีขายทั่วไปหรือฝาจีบน้ำอัดลม(ที่ทำเองได้)เป็นขั้นแรก แล้วตามด้วยผ้ากระสอบป่านหยาบ และผ้าห่มเก่าเป็นครั้งสุดท้าย มีสร้างความเข้าใจ กำกับและประเมินผล หรือวงจรคุณภาพของเดมิ่ง (PDCA) เพื่อเป็นการฝึกทำย้ำเตือนเพื่อพัฒนาลักษณะนิสัยที่ยั่งยืน ยังนำผลการแก้ปัญหาไปสรุปเป็นองค์ความรู้ได้อีกด้วยเพราะเป็นการแก้ปัญหาเชิงการวิจัย

เรื่องที่กล่าวหลายคนอาจคิดว่าไม่เป็นเรื่อง แต่หากตรองให้ถี่ถ้วนแล้วมีความละเอียดอ่อนพอสมควร เพราะมีผลต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของผู้ปกครองที่มีความยากจนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตอนลูกสาวผู้เขียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ พบว่า ลูกมีถุงเท้าที่ต้องใช้เต็มกะละมังขนาดใหญ่ที่ใช้กันทั่วไป นับได้ประมาณ ๕๐ คู่ คำนวณแล้วไม่ต่ำกว่าพันบาททีเดียว มันแพงกว่าค่ารองเท้าเสียอีก เป็นประเด็นสำหรับนักบริหารโรงเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญว่า ก็จะพบความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงสร้างประโยชน์และความพึงพอใจแก่ลูกค้าคือนักเรียนและผู้ปกครองต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด : หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ มาตรา 6-7 จัดการศึกษา เพื่อ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เก่ง ...