วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน


ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน


๑. ความนำ 

ครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน เป็นหนึ่งในการแนวทางการพัฒนาคุณธรรมให้เริ่มจากเยาวชน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๔๖ โดยข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการสนับสนุนให้พระภิกษุสงฆ์ เข้าไปสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา

เพื่อปลูกฝังให้นักเรียน นักศึกษา มีความรู้คู่คุณธรรม สามารถนำความรู้และคุณธรรมไปบูรณาการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างเหมาะสมและมีความสุข

ริเริ่มโดยกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้รับงบประมาณ จำนวน ๑๐ ล้านบาท อุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายจำนวน ๘๐๐ รูปทั่วประเทศ และสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีความต้องการพระในโรงเรียน โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า ๕๘,๐๗๓ รูป โรงเรียนวิถีพุทธ จำนวน ๑๐,๐๐๐ กว่าโรงเรียน มีความต้องการพระสงฆ์ไปให้ความรู้แก่นักเรียนอย่างสม่ำเสมอ ปีงบประมาณ ๒๕๔๘ – ๒๕๕๐ ได้รับอนุมัติงบกลางจากคณะรัฐมนตรี เพื่ออุดหนุนโครงการพระสอนศีลธรรม ได้รับอนุมัติเพิ่มเป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐ รูป ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ จะได้รับอนุมัติเป็น ๒๐,๐๐๐ รูป คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ ให้โอนงบประมาณโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ไปตั้งที่กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งมอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินโครงการ 

ครูพระส่วนใหญ่ ยังต้องการการชี้นำด้านทักษะและแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและขาดการชี้นำ ด้านบทบาทและแนวทางที่เหมาะสม ว่าต้องทำอย่างไร แนวทางต่อไปนี้ จะช่วยให้ครูพระและผู้สนใจทั่วไป มีความเข้าใจและทำงานได้ตามเป้าประสงค์

๒. วัตถุประสงค์โครงการครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 

๑) เพื่อจัดพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนในระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา
๒) เพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ตามนโยบาย "คุณธรรมนำความรู้" สู่สถานศึกษา
๓) เพื่อให้พระสงฆ์นำหลักธรรมทางศาสนามาจัดกิจกรรมการเรียนรู้แก่นักเรียน นักศึกษาให้สามารถนำประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
๔) เพื่อให้นักเรียนนักศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ และนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเชิงพระพุทธศาสนาไปปฏิบัติในการชีวิตประจำวัน 
๕) เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนาโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

๓. ภารกิจของครูพระตามโครงการครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 

๑) สอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียน โดยมีคาบสอนอย่างน้อย ๒ คาบต่อสัปดาห์ 
๒) สอนหลักสูตรธรรมศึกษาชั้นตรี โท เอก เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ในหลักธรรม 
๓) สอนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับหลักธรรมทางศาสนา เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ในหลักธรรม 
๔) จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อปลูกฝังคุณธรรมตามหลักธรรมทางศาสนาเพื่อการปรับใช้ในชีวิตประจำวัน 
๕) จัดกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา และนำนักเรียน ครู ผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา
๖) สอนประจำโครงการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ 
๗) อบรมและเป็นกรรมการคุมสอบหลักสูตรธรรมศึกษาในเรือนจำและสถานพินิจฯ 
๘) ให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์และบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์แก่โรงเรียนและชุมชน

๔. แนวทางในปฏิบัติงานของครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน 

๔.๑ ภารกิจของครูพระ

คือ ปฏิบัติงานสอนในโรงเรียนอย่างน้อย ๒ คาบต่อสัปดาห์ แต่โดยความเป็นจริงครูพระอาจได้รับงานในโรงเรียนและภาระงานมากน้อยต่างกันไปตามความคาดหวังของโรงเรียน

โดยสภาพของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานปัจจุบัน มีความแตกต่างกันแต่ละโรงเรียน อย่างน้อย ๒ ด้าน คือ

๑) ขนาดโรงเรียน
โรงเรียนมีขนาดตามจำนวนนักเรียน คือ โรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่จะทำให้ครูพระปฏิบัติงานต่างกัน โดยโรงเรียนขนาดเล็กเหมาะที่จะจัดกิจกรรมรวม ต่างจากขนาดใหญ่ที่อาจเป็นกิจกรรมและอาจสอนตามหลักสูตรรายวิชาด้วย

๒) ระดับการศึกษา
รูปแบบสถานศึกษา บางแห่งเป็นการศึกษาระดับปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ป.๑-๖ บางแห่งโรงเรียนขยายโอกาส ที่มีระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน ป.๑-๖ และมี ม.๑-๓ ด้วย และบางแห่งเป็นโรงเรียนมัธยม จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เฉพาะ ม.๑-๖

๔.๒ แนวทางการปฎิบัติงานครูพระ 

มี ๒ ลักษณะ ที่ครูพระต้องเลือก คือ
๑) การสอนตามสาระหลักสูตรสถานศึกษา และ
๒) การสอนด้วยกิจกรรมเสริมหลักสูตร

๔.๒.๑ การสอนตามสาระหลักสูตรสถานศึกษา

คือ การสอนรายวิชาพระพุทธศาสนา กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ตามหลักสูตรสถานศึกษา ในฐานะผู้รับผิดชอบรายวิชาในภาคเรียน เหมือนครูประจำการ   ซึ่งจะต้องปฏิบัติงานสอน มีการจัดการเรียนการสอน การสอบวัดผลและตัดสินผลการเรียนจนครบกระบวนการ ตามประสบการณ์วิชาชีพครู ที่ควรยึดแนวทางการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาชาติและแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (๒๕๔๒-๒๕๖๑) มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพผู้เรียน ๔ ประการ ในสถานศึกษา คือ

๑) ห้องเรียนคุณภาพ
๒) ครูคุณภาพ
๓) ระบบการบริหารจัดการคุณภาพ
๔) แหล่งเรียนรู้คุณภาพ

ภารกิจนี้ ครูพระจะเกี่ยวข้องโดยตรง คือ ทำห้องเรียนคุณภาพและเป็นครูคุณภาพ ดังนี้

๑) ห้องเรียนคุณภาพ 

ห้องเรียนคุณภาพ เป็นแนวทางขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพผู้เรียนของกระทรวงศึกษาธิการที่พบว่าผลการจัดการศึกษาที่ผ่านมาผู้เรียนโดยภาพรวมด้อยคุณภาพ จึงใช้เป็นกลยุทธ์ มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพในระดับปฏิบัติ ระดับห้องเรียน มีความคาดหวังให้ครู ดำเนินการ  ๕ ประการ คือ

 (๑) นำการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียน
 (๒) ออกแบบการจัดการเรียนรู้อิงมาตรฐาน (ทำแผน)
 (๓) การวิจัยชั้นเรียน (CAR-Classroom Action Research)
 (๔) การใช้เทคโนโลยีสื่อสารสนเทศ (ICT) เพื่อสนับสนุนการสอน
 (๕) การสร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline)

๒) ครูคุณภาพ 

ครูที่จัดการเรียนรู้(สอน)แล้วมีคุณภาพ มีแนวทางหลากหลาย อย่างน้อย คือ

(๑) อิงหลักคิดทฤษฎี 

หลักแนวคิดมีหลากหลาย มีองค์สี่ หรือ องค์สาม อาทิ 
ก. อทธิบาทสี่(หลักพุทธธรรม) คือ 

    ฉันทะ  - กำหนดเป้าหมาย 
    วิริยะ    - การทำด้วยความเพียร
    จิตตะ   - ใส่ใจวัดค่าประเมินผล
    วิมังสา - สรุปความสำเร็จ
    
ข. วงจรคุณภาพ(PDCA-ของเดมิ่ง) คือ 

    Plan - การวางแผน 
    Do - การใช้แผน 
    Check - การตรวจสอบ 
    Act  - การสรุปผลไปใช้วางแผนใหม่

ค. ยุทธศาสตร์พระราชทานของรัชกาลที่ ๙ เป็นองค์สาม (สามเส้า) คือ "เข้าใจ - เข้าถึง - พัฒนา"  ที่เป็น  เป็นแนวทางเนื่องจากสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดีกับทุกงาน

    เข้าใจ คือ เข้าใจตนและงานตน ภาระงาน งานหลักและงานรอง ศักยภาพความสามารถตน เป้าหมาย หลักชัยที่ต้องไปให้ถึง ลู่ที่จะต้องเดินไป อันหมายถึง ปรัชญา อุดมการณ์ มาตรฐาน ยุทธศาสตร์ทางการศึกษา
    เข้าถึง คือ การเข้าถึงองค์ความรู้ ทฤษฏี หลักคิดต่างๆที่ชัดเจน ได้แก่ ปรัชญาการศึกษา จิตวิทยาการศึกษา หลักการบริหารจัดการ วงจรคุณภาพ นำมาเป็นต้นแบบในการทำงาน
    พัฒนา คือ การนำเอาหลักคิดทฤษฎีทั้งหลายมาคิดต่อยอดตามวิธีการของตน จะเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ (นวัตกรรม) 

(๒) ทำหลักสูตรรายวิชา 

หลักสูตร (Syllabus) หมายถึง คำอธิบายรายวิชา (Course Description) นำมาจากหลักสูตรสถานศึกษา (Cirriculum) กำหนดเป็นโครงสร้างหลักสูตรรายวิชา ด้วยการ กำหนดวัตถุประสงค์ ทำหน่วยการเรียน (Lesson) ตามกรอบคำอธิบายรายวิชา กำหนดเวลา จำนวนคาบ วิธีการ สื่อ กิจกรรม การวัดและประเมินผล ถือเป็นแผนที่เดินทางของครู (Road Map) เป็นไปตามปฏิทินของโรงเรียนทั้งปีที่ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ วัน (๔๐ สัปดาห์ ) ใน ๒ ภาคเรียน

(๓) ทำแผนจัดการเรียนรู้ (Lesson Plan)

เป็นการวางแผนบทเรียน (Lesson Plan) โดยการออกแบบกิจกรรมจากหน่วยการเรียน ปกติจะทำสำหรับการสอนแต่ละหน่วยเป็นคราวๆไปสำหรับสัปดาห์ต่อไป 

       แนวทางการวางแผนบทเรียน (Lesson Plan) 
      เป็นแผนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนยกลาง ออกแบบกิจกรรมการเรียนการรู้ล่วงหน้า ปกติมักเขียนด้วยมือตามแบบฟอร์มที่จัดไว้เอง

      องค์ประกอบแผนจัดการเรียนรู้
       ๑) ชื่อหน่วยการเรียน
       ๒) วัตถุประสงค์ ครอบคลุม ๓ ด้านมักเรียกย่อว่า KAP หรือ CAP ของบลูม (ฺBenjamin S. Bloom)  คือ 
          (๑) ด้านความรู้ (Knowledge-based, The Cognitive Domain) ความใจ การวิเคราะห์ สังเคราะห์
          (๒) ด้านเจตคติบุคลิกท่าทาง (Emotion-based, The Afective Domain ) ด้านความรู้สึก บุคลิกภาพ การโต้ตอบ วิพากย์ และพฤติกรรม ความสัมพันธ์และความเป็นผู้นำ        
          (๓) ด้านทักษะความสามารถ (Action-based, The Psychomotor domain)

       ๓) เนื้อหาสาระที่จะให้เรียนรู้
       ๔) กิจกรรม วิธีการ สื่อการเรียน  
       ๕) แนวทางและวิธีการวัดผลประเมินผล
       ๖) บันทึกผลจัดการเรียนรู้ ที่ควรทำทันทีเมื่อสิ้นสุดกิจกรรม ว่า วัตถุประสงค์แต่ละข้อ มีผลสำเร็จอย่างไร ด้วยวิธีใด จำนวนเท่าใด และมีค่าสถิติอย่างไร (ร้อยละ)

๒) สรุปผลการจัดการเรียนรู้รายวิชา 

เป็นขั้นตอนสุดท้ายของภาคเรียน จัดทำเป็นรายงาน อาจทำได้ ๒ วิธี
     (๑) รายงานผลการจัดการเรียนรู้สาระ เป็นการรายงานอย่างย่อแบบบันทึกเสนอต่อฝ่ายวิชาการ ด้วยการสรุปผลที่เกิดขั้นตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไข 
    (๒) สรุปรายงานเชิงวิจัย โดยสามารถนำเสนอเป็นรายงานการวิจัย ๕ บทได้ เพราะคำตอบมีครบถ้วนแล้ว ถือเป็นงานการวิจัยเพื่อเป็นสารสนเทศในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและการพัฒนาความเชี่ยวชาญในวิชาชีพครู

๔.๒.๒ ครูพระกรณีการสอนด้วยกิจกรรมด้านศีลธรรมอย่างเดียว 

การดำเนินการควรมีการทำงานด้วยวงจรคุณภาพ (PDCA-Plan / Do / Check / Act) เช่นเดียวกัน คือ

๑) การวางแผน (Plan)
โดยการเขียนโครงการและสรา้งหลักสูตรในการสอนศีลธรรม เป็นรูปแบบของการอบรม (หรือหลักสูตรการอบรม) ว่า จะทำอะไร ทำอย่างไร ทำเมื่อใด ทำเสร็จแล้วจะได้อะไร  ดังนี้ 

(๑) ชื่อ โครงการ
ควรกำหนดชื่อที่เหมาะสม ชัดเจน คลอบคลุมกิจกรรมที่จัดขึ้นตามแผน และสอดคล้องกับการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ในฐานะเป็นพลเมืองไทยและพลโลก ดังนี้ ๑. รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ๒. ซื่อสัตย์สุจริต ๓. มีวินัย ๔. ใฝ่เรียนรู้ ๕. อยู่อย่างพอเพียง ๖. มุ่งมั่นในการทำงาน ๗. รักความเป็นไทย และ ๘. มีจิตสาธารณะ
(๒) กำหนดเป้าหมาย
สิ่งที่คาดจะให้เกิดขึ้น ด้าน จำนวนกิจกรรม จำนวนครั้ง จำนวนคนผู้รับประโยชน์ อาจเป็นทั้ง เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
(๓) กำหนดวัตถุประสงค์
 ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าทำได้ วัดได้ ตรงเนื้อหาสาระหลักสูตร เน้น ๓ ด้านคือ
      (๑) ด้านความ รู้ จำ เข้าใจ (K-Knowledge)
      (๒) ด้านความรู้สึก จิตสำนึกและเจตคติที่ดี (Attitude) และ
      (๓) ด้านทักษะและพฤติกรรมที่งดงาม (Psychomotor) เรียกย่อว่า KAP

(๔) เนื้อหา / กิจกรรมโครงการ
ระบุกิจกรรมที่จะดำเนินการตามแผนตลอดภาคเรียน แนวทางการกำหนดกิจกรรม คือ - มีเวลาดำเนินการอย่างน้อย ๒ คาบต่อสัปดาห์ ใช้เวลาที่สอดคล้องกับการเปิดเรียน คือ ๒๐ สัปดาห์ สำหรับ ๑ ภาคเรียน และ ๔๐ สัปดาห์สำหรับตลอดปีการศึกษา 

๒) ขั้นดำเนินโครงการ (Do)

แนวทางจัดกิจกรรม
- ควรบูรณาเป็นลำดับ ได้แก่ มีการไหว้พระ การสวดมนต์ยาว หรือทำวัตร การฝึกสมาธิ การแผ่บารมี การบริจาคแผ่เมตตา และอบรมศีลธรรม ให้เกิดความเคยชินเป็นนสัย
- ควรมีการแบ่งกลุ่ม หมุนเวียนในกิจกรรมแต่ละครั้ง เช่น ฝ่ายจัดสถานที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายพิธีการ ฝ่ายบริการ ฝึกความรับผิดชอบ การเป็นผู้นำผู้ตาม

 ๓) การวัดผลประเมินผล (Check)

- มีการวัดและประเมินกิจกรรมทุกครั้ง ด้วยแบบสังเกต แบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบประเมินของนักเรียนดัวยกัน การประเมินควรประเมินทั้งระบบ คือ กิจกรรม สื่อ ระยะเวลา สถานที่ วิทยากร ความพึงพอใจผู้ร่วมกิจกรรม ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน 
- การติดตามผลที่เกิดขึ้น ทั้งกับผู้เรียน ครูในโรงเรียนและครอบครัว มีการแจ้งผลเชิงบวกสม่ำเสมอ เก็บรวบรวมผลเชิงคุณภาพอย่างเป็นระบบ
 
๔) ขั้นสรุปผลเพื่อนำไปแก้ไข (Act) 
- ควรดำเนินการทันทีเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ โดยการนำผลการบันทึกหลังกิจกรรมทั้งหมดมาประมวลผลวิเคราะห์ และสรุปอย่างน้อยได้ผลสรุป ดังนี้ 
๑) ผลที่เกิดขึ้นทุกข้อตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ว่าแต่ละข้อ มีผลอย่างไร จำนวนเท่าใด ค่าสถิติเป็นอย่างไร มีความก้าวหน้าอย่างไร 
๒) ปัญหาที่พบจากการจัดกิจกรรมการสอน มีประเด็นอะไรบ้าง จัดลำดับความสำคัญ แนวทางแก้ไขให้ดีขึ้นหากจะจัดครั้งต่อไป และนำไปเป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนครั้งต่อไป จุดเด่นนำไปเป็นต้นแบบ และจุดอ่อนนำไปปรับแก้

๕. สรุปภารกิจครูพระสอนศลธรรมในโรงเรียน
 งานครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มีภารกิจให้เลือก ๒ ลักษณะ คือ 
๑. การจัดการเรียนรู้รายวิชาตามหลักสูตรสถานศึกษา ในฐานะครูปฏิบัติการสอนในชั้นเรียน หรือ 
๒. การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร การปลูกฝัง อบรมสร้างเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในโรงเรียน เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์โดยเฉพาะ

1 ความคิดเห็น:

ศน.ปลาทอง กล่าวว่า...

เป็นบทความที่น่าสนใจและมีประโยชน์มากเลยค่ะ หนูขออนุญาตนำไปเป็นแบบอย่างในการเขียนบทความทางวิชาการต่อไปนะคะ

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด : หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ มาตรา 6-7 จัดการศึกษา เพื่อ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เก่ง ...