แท็บเล็ตกำลังเป็นเรื่องฮือฮาของวงการศึกษาไทยเมื่อนักการศึกษาและนักบริหารบ้านเมืองมีความเชื่อว่ามันจำเป็นต่อการเรียนของเด็กตั้งแต่วัยเริ่มเรียนอย่างชั้นประถมปีที่ ๑ จนต้องจัดนโยบายหนึ่งคนต่อหนึ่งแท็บเล็ตและจะเริ่มเรียนในปีการศึกษา ๒๕๕๕ นี
เมื่อห้าทศวรรษที่ผ่านมา ผู้เขียนยังเคยได้ทันเรียนด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่าแท็บแล็ตนี้ในชั้นประถมปีที่ ๑ ด้วย มันเป็นแท็บเล็ตจริงๆ ที่มีคุณลักษณะเหมือนกันกับแท็บเล็ตสมัยนี้คือ เขียนได้ ขนาด รูปลักษณ์ ที่สำคัญคือบรรจุข้อมูลได้ ลบทิ้งได้ และ ตกแล้วก็แตก สมัยนั้นเรียกว่า กระดานชนวน เคยใช้เรียนอยู่ปีหนึ่งก็มาเปลี่ยนมาใช้ดินสอและสมุดมีเส้นในชั้นประถมปีที่ ๒ ชั้นประถมปีที่ ๑ รุ่นหลังมาก็เปลี่ยนมาใช้สมุดเหมือนกัน ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ กระดานชนวนก็หายไปจากการเรียนการสอนในโรงเรียนบ้านหวายหลึม(โพธิ์ศรีราษฎร์วิทยา) จังหวัดร้อยเอ็ดของผู้เขียน ในร้านค้าเครื่องเรียนในเมืองจะไม่พบกระดานชนวนวางขายอีกเลยเพราะโรงเรียนต่างๆ ก็เลิกใช้ด้วย ใครมีสมุดและดินสอโดยเฉพาะอย่างยิ่งดินสอหอมมันดูแล้วพิเศษจริงๆ กระดานชนวนในทุกวันนี้พอจะหาได้บางร้านที่ตลาดอินโดจีนของมุกดาหาร สนนราคาแผ่นละประมาณ ๒๕ บาท ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าบางประเทศยังเห็นความสำคัญและยังมีการใช้เทคโนโลยีนี้อยู่
ก่อนหน้านั้นมีการเรียนด้วยกระดานชนวนจนถึงชั้นประถมปีที่ ๔ เลยทีเดียวซึ่งเป็นภาคบังคับ เมื่อครูสั่งให้คัดไทย เขียนคำนวณเลข หรือวาดภาพ ก็จะทำลงในกระดานชนวน ครูจะคอยสังเกตความตั้งใจและเอาใจใส่ของนักเรียนจากเสียงสอหินขูดกับกระดานเป็นรอยสีขาวตัดกับสีดำของกระดาน มีเสียงดังหวีดแหลม ครูจะเป็นผู้คอยดูการเขียนและลากเส้น การเขียนด้วยกระดานชนวนจะกดสอหินลงกระดานแล้วเขียนจนเป็นตัวหนังสือและตัวเลขเพราะการยกสอหินแล้วเขียนเพิ่มเส้นจะไม่ตรงกัน ครูจะบังคับการเขียนอักษรให้ถูกตามอักขรวิธี บางครั้งต้องจับมือเขียน เป็นบรรยากาศที่ไม่อาจหาได้ในการเรียนยุคใหม่ งานที่เสร็จแล้วก็นำไปเสนอให้คุณครูตรวจแล้วให้คะแนนเสร็จแล้วก็จะนำมาอวดกันแล้วก็ลบเพื่อเรียนสิ่งใหม่ ปัญหาการเรียนด้วยกระดานชนวนมีไม่มากเช่นตกแล้วแตก ก็ยังนำบางส่วนมาเขียนได้ หรือกรอบไม่หลุดออกก็ซ่อมได้เองไม่ยาก ความฝืดของสอหินกับกระดานเป็นส่วนสำคัญในการใช้กล้ามเนื้อเล็กบังคับลายมือที่ขีดเขียนให้ตรงเส้นตรงแนว ฝึกลายมือให้มีความสวยคม
จบภาคบังคับ ๔ ปีแล้วลายมือสวยเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่ลายมือเด็กที่จบภาคบังคับ ๙ ปีในปัจจุบันแล้วต่างกันมากและมีจำนวนไม่น้อยอ่านและเขียนไม่ได้เลย ครูยุคนั้นจึงให้ความสำคัญกับการขีดเขียน และการคิดคำนวณเลข จนอาจเรียกติดปากว่าสอนแบบเลขคัดเลิก ซึ่งหมายถึงการเริ่มจากการเรียนเลขในตอนเช้า ตอนบ่ายอ่านไทยคัดไทย และทำกิจกรรมนอกห้องเรียนกลับมาท่องอาขยาน สูตรคูณ ไหว้พระสวดมนต์ และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอีกทีแล้วก็เลิก จะกลับบ้านตัวเปล่าแบบเบาตัวเพราะกระดานชนวนก็ทิ้งไว้ที่โรงเรียน ชั้นประถมปีที่ ๑ – ๒ จึงเน้นเรียนการฟัง การพูด ขีดการเขียน การอ่านแบบสะกดคำ เพื่อสร้างทักษะเบื้องต้น ไม่เน้นการสืบค้นและเรียนตามลำพังเพราะสมาธิเด็กสั้นมาก จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกิจกรรมบูรณาการที่เหมาะสมกับความสนใจ จำนวนและวัยของเด็ก
การเรียนจากแม่พิมพ์คือ “ครู” จึงถือว่ามีความสำคัญ และแม่พิมพ์ที่เหมาะสมจึงต้องคัดกรองพอสมควรโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลิกภาพ น้ำเสียง และลายมือ การเรียนการสอนจึงเน้นที่การอ่านออกเขียนได้ คิดเป็น ทำเป็น ในชั้นประถมปีที่ ๓ และ ๔ การเรียนอ่านและเขียนจะเน้นการทักษะการคิดวิเคราะห์ เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะไปสู้กับโลกกว้าง หาความเป็นตัวตนและหาคำตอบในชีวิตด้วยตนเองเมื่อจบประถมปีที่ ๔ ไปแล้ว และนักคิดนักประดิษฐ์แม้กระทั่งศิลปินจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันที่ประสบความสำเร็จและมีพื้นฐานการศึกษาภาคบังคับเพียง ๔ ปี และมีพื้นฐานสำคัญจากชั้นประถมปีที่ ๑ ที่ได้รับการฝึกและฝนอย่างเข้มข้นและเอาใจใส่จากแม่พิมพ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น