วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วาระโรงเรียน (School Agenda)

วาระโรงเรียน
school agenda

หลายปีผ่านมา เคยได้ยินคำว่า “วาระแห่งชาติ” ซึ่งก็ยังไม่พบความเคลื่อนไหวให้เห็นว่าเป็นเรื่องใดอย่างไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง แล้วจะลงเอยอย่างไร แต่คำว่า “วาระ” มันก็มีความสำคัญในตัว คิดว่าน่าจะมีความจำเป็นในการบริหารจัดการองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษา เพราะในปัจจุบันมีความเป็นอิสระพอสมควรมีฐานะเป็นนิติบุคคล ในการคิดพัฒนาความก้าวหน้าด้วยตนเองโดยความเห็นชอบของกรรมการสถานศึกษา ทั้งที่ดูแล้วผู้บริหารสถานศึกษาสามารถขับเคลื่อนได้ เพราะเป็นผู้กำกับดูแลการกำหนดรอบปีของการทำงานหรือปีการศึกษา ซึ่งหากเป็นเรื่องที่ดีย่อมได้รับความเห็นชอบและชื่นชมอยู่แล้ว แต่ก็ไม่พบการดำเนินการให้ได้ศึกษา จึงยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นแนวคิดได้แลกเปลี่ยนกัน ขอยกประเด็นเสนอเพื่อความเข้าใจ

อะไร...คือ วาระ

วาระ หรือระเบียบวาระ ภาษาอังกฤษคือ Agenda มีคำสัมพันธ์ใกล้เคียง ได้แก่ กำหนดการ (program) ตารางการทำงาน (schedule) ตารางเวลา (timetable)
คำว่า Agenda[i] แปลตามตัวว่า ระเบียบวาระ หรือกำหนดการ หมายถึง การอภิปรายผลตามประเด็นที่ได้มีการกำหนดไว้ในการประชุมปกติ
วัตถุประสงค์ของวาระโดยรวม คือ
๑. ผู้มีส่วนร่วมทำความเข้าใจกับประเด็นที่จะถูกอภิปรายและเรื่องที่จะถูกเสนอ
๒. ระบุว่าอะไรคือองค์ความรู้สำคัญที่คาดหวังจากผู้ที่มีส่วนร่วม และ
๓. ระบุว่าอะไรเป็นผลลัพธ์ที่ผู้มีส่วนร่วมอาจคาดหวังจากการประชุม

สรุป ความสำคัญของการมีวาระ อยู่ที่การได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนวิเคราะห์ตามประเด็นที่กำหนด ที่จะได้วิธีคิดจากผู้มีส่วนร่วมและผู้มีส่วนร่วมก็ได้ในสิ่งที่คาดหวัง 

มิติทางการบริหารจัดการ...เป็นอย่างไร
มีความสัมพันธ์กับการบริหารภายใต้การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ ที่เน้นการมีส่วนร่วม การบริหารภายใต้ภาวะความเสี่ยง สามารถบูรณาการกับทฤษฎีการบริหารแนวใหม่ และการบริหารจัดการด้วยวงจรคุณภาพ (Deming Model)

มักถูกเรียกทับศัพท์ว่า “อะเจนดะ” ที่รู้จักกันทั่วไปตั้งแต่มีการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ โดยหากจะนำกำหนดในสถานศึกษา ว่า วาระแห่งโรงเรียน (school agenda) หรือ วาระแห่งสำนักงาน... ก็น่าจะสร้างประโยชน์ทางการบริหารไม่น้อย อย่างโรงเรียนก็อาจใช้คำว่า “วาระโรงเรียน-School Agenda” เพราะสั้นและตรงตัวดี แต่หากจะเรียกว่า “ระเบียบวาระแห่งโรงเรียน” ก็ดูจะติดกับกฎหมายระเบียบงานสารบรรณเกินไปจนจะอดขำไม่ได้ โดยหากจะเรียกว่า กำหนดการโรงเรียน หรือ ตารางการทำงานโรงเรียน ก็ยังน่าจะเหมาะกว่า
ในการบริการจัดการแนวใหม่ (NPM-New Public Management) ยึดหลักมนุษยนิยม (HA-Humanistic Approach) ถือว่า สิตปัญญาและองค์ความรู้ของคน คือต้นทุนและทรัพย์สินที่สำคัญของการบริหารจัดการ ผ่านมิติการบริหารการเปลี่ยนแปลง(CM-Change Management) การจัดการข้อมูลสารสนเทศ(IM-Information Management) การจัดการความรู้(KM-Knowledge Management)  มีเป้าหมายสำคัญคือลูกค้า(Customers-ด้านประโยชน์ ความพึงพอใจ หรือคุณภาพ)
ภายใต้กระบวนการบริหาร มีความสำคัญในงานวางแผนที่เป็นระบบครบวงจร เพราะการวางแผนจะทำให้เห็นภาพของอนาคตที่ชัดเจน หากจะให้มีความแม่นยำขึ้น จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยปฏิทินและวาระการทำงาน (Calendar & Agenda) เป็นกรอบทางเดินหรือแผนการเดินทางที่ชัดเจน ที่จะมุ่งสู่การสร้างความก้าวหน้า เข้มแข็ง ลดอุบัติเหตุ ลดความเสี่ยงขององค์กรและที่สำคัญคือความสุขจากการทำงาน

สถานศึกษาจำเป็นต้องกำหนดวาระไว้เพื่ออะไร
          เพื่อจัดการศึกษาเกิดผลด้านคุณภาพ และได้มาตรฐาน ตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ
          มาตรฐานที่  ๑  คุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ ทั้งในฐานะพลเมืองและพลโลก (คนไทยเป็นคนเก่ง คนดี และมีความมีสุข)
          มาตรฐานที่  ๒  แนวการจัดการศึกษา (จัดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญและการบริหารงานโดยใช้สถานศึกษาเป็นฐาน)
          มาตรฐานที่  ๓  แนวการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้/สังคมแห่งความรู้ (การสร้างวิถีการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้ให้เข้มแข็ง)[ii]
          โดยภาพรวมคือ คุณภาพและมาตรฐานเด็ก ครู และองค์กร
ทำไม จึงคิดว่ามีความจำเป็นต้องทำวาระของสถานศึกษา
๑.      เห็นภาพโดยรวมในวงรอบการทำงานของสถานศึกษาสู่มาตรฐานที่กำหนด
๒.     ครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีส่วนร่วมได้ใช้ศักยภาพและพัฒนาการทำงาน
๓.     สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในองค์กร

ใคร...คือบุคคลสำคัญ
ผู้บริหารสถานศึกษา หรือ เบอร์ ๑ เป็นต้นคิดและขับเคลื่อน อาจเริ่มจากทีมบริหารที่มีรองผู้อำนวยการเข้ามาช่วยกำหนดแนวทาง มีฝ่ายแผนงานเข้ามารองรับ ซึ่งอยู่กับกลเม็ดของผู้บริหาร
ส่วนการเสนอยกร่างประเด็นที่จะเป็นวาระควรเป็นหน้าที่ของกลุ่มงาน เป็นผู้ต้นทางที่ทำหน้าที่วิเคราะห์แจกแจงทำรายละเอียดด้านเวลา เนื้อหา กรอบแนวคิดและความมุ่งหวัง ก่อนที่จะเข้าที่ประชุมใหญ่ประจำปี (Conference) เพื่อการรับรองที่เป็นทางการ
สรุปคือ การมีส่วนร่วมของทุกคนภายใต้กลเม็ดของผู้นำ

อะไร...คือลู่ที่ควรกำหนดก่อนการเกิดวาระ
                        ๑. การกำหนดวงรอบปีการศึกษา เป็นปฏิทินปีการศึกษาของสถานศึกษา ทั้งนี้ เพราะสถานศึกษาไม่ปิดทำการ แต่จะมีวันหยุดทำงานและการเรียนการสอน  ได้แก่
๑.๑ กำหนดวันเริ่มและวันสิ้นปีการศึกษา เช่น ปีการศึกษาเริ่ม ๑ เมษายน สิ้นสุด ๓๑ มีนาคมปีถัดไป
๑.๒ วันเปิดเรียนและปิดเรียน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดและกรอบหลักสูตร เช่น ๔๐ สัปดาห์ หรือ ๒๐๐ วัน
๑.๓ วันหยุดปกติ และวันหยุดกรณีพิเศษต่างๆ ตามรัฐบาลกำหนด
๒.สร้างต้นแบบ (Paradigm) จากการแสวงหาวิธีคิดใหม่ของกลุ่มงาน การบริหารความเสี่ยง และพลังการจัดการความรู้ (KM)
๓.     มุ่งสู่วิสัยทัศน์ตามยุทธศาสตร์และพัฒนาต่อยอดยุทธศาสตร์ของสถานศึกษา

อะไร...คือภาระงานที่จำเป็นนำมาจัดเป็นวาระ
จากการทบทวนบทบาทและภารกลุ่มงานว่า ภารกิจหลัก ภารกิจรอง และภารกิจสนับสนุนคืออะไร ภารกิจหลักของสถานศึกษาคือการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร สถานศึกษามีการแบ่งขอบเขตออกเป็น ๔ กลุ่มงาน ได้แก่ การบริหารวิชาการ การบริหารงบประมาณและทรัพยากร การบริหารบุคคล และการบริหารทั่วไป กลุ่มงานวิชาการ มีภารกิจหลักในการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล รวมทั้งการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพ[iii]

ตัวอย่าง การจัดวาระกลุ่มงานบริหารวิชาการและการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
ด้วยองค์ประกอบ ห้วงเวลา เรื่อง และกรอบสาระ(สาระ แนวทาง ความสำเร็จที่คาดหวัง)

วันที่

เดือน
ปี
เรื่อง
ตัวอย่าง : คำอธิบายสาระของกำหนดการ
ที่ต้อง ให้ความรู้ ความคาดหวัง และผลลัพธ์
๒๕
เมษายน

การปรับหลักสูตร
-นำผลการใช้หลักสูตรรายวิชาของครูพิจารณาทบทวนปรับปรุงและอนุมัติการใช้หลักสูตรที่มีการเปลี่ยนแปลง
๓๐
เมษายน

การมอบหมายภารงานหลักสูตร
-การบริหารมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบหลักสูตรที่ใช้ในสถานศึกษาจนครบถ้วนทุกรายวิชาทุกชั้นแก่ครู
๑๐
พฤษภาคม

การทำกำหนดการสอนรายวิชา/รายชั้น หรือเค้าโครงหลักสูตรที่จะสอน(Syllabus)[iv]
-ครูผู้ได้รับการมอบหมายหลักสูตรนำหลักสูตร(คำอธิบายรายวิชา) มาจัดทำหลักสูตรที่จะสอน(Syllabus) กำหนดวัตถุประสงค์ ถอดเค้าโครงเรื่อง กำหนดหัวข้อเรื่อง วันเวลา กิจกรรม สื่อและข้อตกลงต่าง ๆ ที่จะต้องจัดการเรียนการสอนทั้งภาคเรียน
-ระดับประถมเน้นการบูรณาการทุกรายวิชาเป็นหลัก
-ถือเป็นข้อตกลงที่ครูต้องมีและผู้บริหารต้องได้รับไว้ด้วย
๑๖
พฤษภาคม-๒๕ มีนาคม

การทำแผนการสอน – Lesson Plan
-การเริ่มใช้หลักสูตรรายวิชา/รายชั้นสู่การจัดการเรียนรู้
-ครูวางแผนการจัดการเรียนรู้ก่อนสอนทุกครั้ง บันทึกอย่างง่าย ประกอบด้วยหัวเรื่องสาระสำคัญที่จะสอน วัตถุประสงค์ กิจกรรม กระบวนการและสื่อ โดยย่อเพื่อประหยัดเวลา
-ครูเก็บและสะสมผลการจัดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์อย่างครบถ้วนทุกแผน

ศุกร์สุดท้ายทุกเดือน

การนิเทศการสอน
-เน้นการนิเทศภายใน ศึกษานิเทศก์คือผู้บริหารโรงเรียนซึ่งเป็นผู้ดูแลหลักสูตรและผู้มีความเชี่ยวชาญภายในที่ได้รับมอบหมายและเชื่อถือ ไม่ควรเป็นบุคคลภายนอก
-มีการนิเทศแบบกัลยาณมิตร เสริมแรง ยกจุดเด่นแก้จุดอ่อน
-จัดวันการประเมินคณะนิเทศและครูเป็นประจำ เช่น รายเดือน รายปักษ์ หรือศุกร์กลางเดือนและปลายเดือน

๑๕
มีนาคม

การประเมินผลการเรียน
การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและรายงาน
ปกติจะมีการประเมินผลเป็นทางการคือการสอบกลางภาคเรียนและปลายภาคเรียนเพื่อวัดดูผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน
๓๑
มีนาคม

การประเมินและสรุปผลการใช้หลักสูตรรายวิชา/รายชั้น
นำการบันทึกสะสมผลการสอนตามหลักสูตรรายวิชารายวิชาหรือชั้น(Syllabus)ที่ได้รับผิดชอบมาวิเคราะห์ประมวลผลเชิงวิจัย สรุปผล ปัญหาและแนวทางแก้ไข นำสู่การปรับปรุงหลักสูตร(คำอธิบายรายวิชา) สู่การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาต่อไป

          การจัดทำวาระในสถานศึกษาจึงเป็นการเริ่มต้นที่มาจากศักยภาพของกลุ่มงาน ซึ่งรู้หน้างานที่ต้องปฏิบัติ สามารถแจกแจงรายละเอียดเป็นอย่างดี ทุกกลุ่มงานจึงเป็นต้นคิดก่อนทีจะนำไปสู่การวิพากย์และหลอมเป็นวาระโรงเรียนโดยรวมต่อไป

          วาระโรงเรียน น่าจะไม่ใช่กล่าวลอย ๆ อาจเปรียบเหมือนเส้นผมบังภูเขา ที่นักบริหารอาจไม่เห็นหรือมองข้ามไป หากทำได้จะสามารถส่งผลกับผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสถานศึกษาและชาติไม่หวั่นวิตกกับผลการสอบโอเน็ต และเป็นการแสดงความเป็นภาวะผู้นำหรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงของเบอร์หนึ่งได้เป็นอย่างดี ส่วนผลพลอยได้อื่นจะตามมาเองไม่ว่าจะเป็นผลงานทางวิชาการ ผลงานเชิงวิจัยและพัฒนาองค์กร(R&D)  การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และอื่นๆที่ไม่ต้องไปปรุงแต่งให้ปวดหัวเมื่อมีการประเมินมาถึง






[i] Agenda : Ordered sequence of items to be discussed in a formal meeting. The objectives of an agenda include to (1) familiarize participants with the topics to be discussed and issues to be raised, (2) indicate what prior knowledge would be expected from the participants, and (3) indicate what outcome the participants may expect from the meeting. Read more.  From : http://www.businessdictionary.com/definition/agenda.html
[ii] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.  มาตรฐานการศึกษาของชาติ. กรุงเทพ : สกศ. ๒๕๔๕ หน้า ๒
[iii] ดร.พิศาล สร้อยธุหร่ำ และคณะ ผลงานวิจัยแนวทางการบริหารโรงเรียนนิติบุคคล เสนอ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มีนาคม 2551
[iv] Syllabus แปลว่า หลักสูตร หมายถึงหลักสูตรย่อยเป็นรายวิชา ใช้กับการอบรม การเรียน ที่กำหนดเนื้อหาและรายละเอียดที่จำต้องทำไว้เพื่อเป็นแนวทาง ด้านการเรียนการสอนอาจมีหลายชื่อเรียก เช่น หน่วยการเรียนรู้ กำหนดการสอน ประมวลการสอน โครงการสอน(เดิม) หากเป็นการประชุมอบรมก็คือหลักสูตรการอบรม

ไม่มีความคิดเห็น:

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด

สรุป พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ ppt ดาวน์โหลด : หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ มาตรา 6-7 จัดการศึกษา เพื่อ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เก่ง ...